bih.button.backtotop.text

5 โรคอันตราย ฝันร้ายของผู้ชายวัย 50 +

คุณทราบหรือไม่ว่าผู้ชายมีอายุเฉลี่ยสั้นกว่าผู้หญิง?

เหตุผลก็เพราะว่าผู้ชายส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับสุขภาพของตัวเองน้อยกว่าผู้หญิง ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงกับการทำลายสุขภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้ชีวิตอย่างโลดโผน หรือแม้แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองโรคหรือการตรวจสุขภาพประจำปีเท่าที่ควร


ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากโรคทั่วไปที่คนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเป็นได้เมื่ออายุมากขึ้นอย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งแล้ว คุณผู้ชายยังมีโรคเฉพาะตัวอีกหลายโรคที่ควรต้องกังวล

 

สำหรับโรคที่พบบ่อยในผู้ชายวัยกลางคน ได้แก่

1. โรคต่อมลูกหมากโต ( Benign Prostatic Hyperplasia)

คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติแล้วไปเบียดท่อปัสสาวะให้ตีบแคบเล็กลง


อาการ มีความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะบ่อย หรือต้องการปัสสาวะทันทีรอนานไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย รู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน


2. ภาวะฮอร์โมนเพศชายลดต่ำ (Male Hypogonadism)

เป็นภาวะที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรน (testosterone) ได้น้อยลง โดยอาจเป็นผลจากการบาดเจ็บหรือติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ มีความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน เช่น มีโรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง หรือมีโรคที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคตับและไตเรื้อรัง ไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน


อาการ ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ตัวอสุจิมีจำนวนน้อย หน้าอกโตขึ้น กล้ามเนื้อลีบลง สะสมไขมันมากขึ้น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉง นอนไม่หลับ สมองไม่เฉียบคม ขาดความมั่นใจ บางรายอาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย


3. การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

เป็นภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์ในขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจเกิดจากปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ ความเครียดสภาวะที่มีผลกระทบต่อสมอง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ตลอดจนอาจเป็นผลตามมาจากโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง


อาการ อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว แข็งตัวไม่เต็มที่ หรือไม่สามารถคงความแข็งตัวในขณะปฏิบัติกิจทางเพศ ทำให้ความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ลดลง และความมั่นใจในตัวเองลดลง


4. โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (Stones in the Urinary Tract)

ซึ่งรวมถึงนิ่วในไต ท่อไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วเกิดจากการที่สารต่างๆ ในปัสสาวะตกตะกอนหรือตกผลึกขึ้นในไตแล้วสะสมรวมกันเป็นก้อนแข็งมีลักษณะคล้ายก้อนกรวด


นิ่วที่ยังอยู่ในไตเรียกว่า โรคนิ่วในไต แต่หากก้อนนิ่วหลุดลงมายังท่อไตเรียกว่า โรคนิ่วในท่อไต ส่วนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นนิ่วที่หลุดจากท่อไตลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจเป็นนิ่วที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะเองก็ได้ โดยเกิดจากการที่มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างอยู่จากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด ทำให้เกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว


อาการ กรณีนิ่วในไตและท่อไต ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดรุนแรงเป็นช่วงๆ บริเวณข้างลำตัวและหลัง บางครั้งอาจปวดช่องท้องด้านล่างลงไปจนถึงขาหนีบ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีไข้ หนาวสั่น ส่วนอาการโดยรวมของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย น้ำปัสสาวะน้อยผิดปกติ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นผิดปกติ บางรายอาจมีเม็ดนิ่วลักษณะคล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ


5. มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer)

เป็นโรคมะเร็งที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านเชื้อชาติ พันธุกรรม รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อแดง

อาการ ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง ปัสสาวะมีเลือดปน หรืออาจมีอาการจากการที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยอื่นเช่นปวดกระดูกหรือกระดูกหักง่ายหากมะเร็งแพร่กระจายไปกระดูก

 

ไม่ยาก ถ้าอยากลดความเสี่ยง

แม้จะพบได้บ่อยแต่โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะด้วยการใช้ชีวิตในรูปแบบที่หลายคนทราบดี เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือการตรวจคัดกรองโรคเพื่อการป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบโรคในระยะแรก


อย่างไรก็ตาม โปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีอาจไม่ครอบคลุมโรคร้ายที่ผู้ชายวัย 50+ ต้องเผชิญ ดังนั้น ควรมองหาโปรแกรมการตรวจคัดกรองโรคแบบเฉพาะเจาะจงเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพทั่วไปซึ่งควรประกอบไปด้วยการตรวจพิเศษดังต่อไปนี้

  • ตรวจปัสสาวะ (urinalysis) เป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อให้ทราบว่ามีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งได้แก่โรคที่เกิดกับไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะหรือไม่
 
  • ตรวจประสิทธิภาพการทำงานของไตจากค่าครีอะตินีน (creatinine หรือ Cr) ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสลายตัวของกล้ามเนื้อแล้วถูกไตกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หากพบค่า Cr ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แสดงว่าไตเริ่มทำงานผิดปกติ
 
  • ตรวจประสิทธิภาพการทำงานของไตจากค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) เป็นการตรวจวัดปริมาณไนโตรเจนในรูปของยูเรียซึ่งเป็นของเสียที่เหลือจากการเผาผลาญโปรตีนที่ตับและถูกกำจัดผ่านไตเพื่อออกเป็นปัสสาวะต่อไป หากพบปริมาณไนโตรเจนในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แสดงว่าไตทำงานไม่ปกติ
 
  • การตรวจการพุ่งของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เป็นการตรวจวัดความแรงและการไหลของปัสสาวะ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะกระปริกระปรอย ปัสสาวะไม่สุด มีน้ำปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะเยอะ
 
  • การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostatic-specific antigen) ซึ่งสารชนิดนี้จะสูงขึ้นในเลือดมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
 
  • ตรวจทางรังษีวิทยาระบบทางเดินปัสสาวะ (Kidney, ureter, bladder หรือ KUB study) เป็นการตรวจเอกซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีก้อนนิ่วบริเวณไต ท่อไต หรือกระเพาะปัสสาวะหรือไม่
 


การตรวจพิเศษเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคของผู้ชายช่วงวัย 50 อย่างได้ผล และหากตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงเท่านี้คุณก็มีชีวิตที่ยืนยาวได้อย่างไร้กังวล

เรียบเรียงโดย นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ :
อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก ชั้น 16
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 33 สุขุมวิท ซอย 3
เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110 ประเทศไทย
โทร: 02-011-2222

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
           E-mail: [email protected]

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs