bih.button.backtotop.text

สมาร์ทวอทซ์ สมาร์ทไลฟ์ : ECG สัญญาณแห่งการดูแลหัวใจบนข้อมือคุณ

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว (atrial fibrillation หรือ AF หรือ A-Fib) คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้มากที่สุด โดยในประเทศไทยนั้นพบในประชากรร้อยละ 1-2 เลยทีเดียว ความเสี่ยงเกิดโรคเพิ่มไปตามอายุที่มากขึ้น ทั้งยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจชนิดอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจพิการแต่กำเนิด รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูงอีกด้วย
 
อาการสำคัญของผู้ที่เป็นโรคนี้ คือ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ อ่อนเพลีย เจ็บหรือแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรืออาจถึงขั้นหมดสติได้ ผู้ที่มีภาวะ AF ที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเกิดภาวะเส้นโลหิตอุดตันในสมองมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ดังนั้นการตรวจพบและรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงเท่ากับลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองไปในตัว
 
การสำรวจข้อมูลโรค AF ทั่วโลกในปีพ.ศ.2562 นั้นประมาณการว่ามีผู้ป่วยด้วยโลกนี้ถึง 59.7 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยโดยประมาณเมื่อสามสิบปีก่อนถึงเท่าตัวเลยทีเดียว และที่สำคัญคือหลายคนไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ด้วยซ้ำ
 
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัย ก็คืออาการแสดงออกของภาวะ AF นี้ไม่ชัดเจน แถมยังมักเกิดขึ้นเป็นพักๆ ไม่ต่อเนื่อง จึงอาจเล็ดลอดการตรวจร่างกายประจำปีไปได้ การมาถึงของเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (wearable devices) ซึ่งสามารถติดตามและวิเคราะห์สุขภาพรายบุคคลได้ตลอดเวลาจึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ป่วยทราบว่าตัวเองป่วยและเข้ารับการรักษาได้ทัน ดังเช่นที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแห่งสหรัฐฯ ได้พิสูจน์แล้วว่าแอพพลิเคชันในสมาร์ตวอชนั้นสามารถตรวจพบและแจ้งเตือนความผิดปกติของหัวใจห้องบนได้แม่นยำไม่น้อยเลยทีเดียว
 
งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน จำนวน 419,297 คน โดยมีเวลาติดตามเฉลี่ยอยู่ที่ 117 วัน ผู้เข้าร่วมการทดลองถูกขอให้สวม Apple Watch ไว้ตลอดเวลาโดยอนุญาตให้ซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลและแจ้งเตือนเมื่อจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ จากนั้นจึงติดต่อแพทย์เมื่อได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งหากมีความผิดปกติรุนแรง แพทย์ก็จะขอให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที แต่หากไม่ฉุกเฉิน ก็จะส่งชุดตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) แบบเรียลไทม์ไปให้เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม หากพบว่ามีความผิดปกติจริง ก็จะได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการรักษา
 
ผลคือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนใดๆแสดงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ไวเกินไปจนอาจก่อให้เกิดความสับสนในผู้ป่วยสุขภาพดี แต่ในหมู่ผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนว่าชีพจรเต้นปกติซึ่งถูกขอให้สวมชุดตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบเรียลไทม์นั้น พบว่าผลการตรวจจับความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวและผลจากการแจ้งเตือนของ Apple Watch สอดคล้องกันถึงร้อยละ 84 เลยทีเดียว และเมื่อส่งผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เก็บข้อมูลไว้ให้แพทย์อ่านเพิ่มเติม ก็พบว่าผู้ป่วยกว่าร้อยละ 35 มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจริงๆ จึงสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้เหล่านี้น่าจะมีประโยชน์ในการติดตามสถานะสุขภาพของผู้ใช้ได้จริง

Content1.pngภาพประกอบ1: ผล ECG จากอุปกรณ์ที่สวมใส่ แสดงผล อัตราการเต้นของหัวใจ อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือการวิจัยนี้ใช้ Apple Watch Series 1-3 ซึ่งตรวจจับได้เพียงชีพจร ไม่สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้โดยตรง ทำให้เมื่อตรวจพบความผิดปกติ ทีมวิจัยต้องส่งชุดตรวจจับคลื่นไฟฟ้าไปให้ แต่ Apple Watch Series 4 และ 5 นั้นมีความสามารถในการตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจในตัวแล้ว
 
หากสงสัยว่ามีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AF) ไม่ว่าจะเนื่องจากรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติหรือเป็นเพราะสมาร์ตวอชเตือนก็ตาม การตรวจเพิ่มเติมหลักๆ คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ( EKG)  ตรวจชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ร่วมด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ  เช่น ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ไตวาย ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเข้าโรงพยาบาลได้ วิธีการหลัก ๆ มีทั้งการใช้ยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ  (cardioversion)การใช้สายสวนหัวใจเพื่อตัดวงจรไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ( Radiofrequency ablation)


Content2.png

ภาพประกอบ2 : ผล ECG ในรูปแบบไฟล์ PDF จากอุปกรณ์สวมใส่ โดยใช้ในการส่งให้แพทย์เพื่อปรึกษาอาการเบื้องต้น

 

สำหรับท่านที่สวมใส่ Apple Watch และติดตามดูแลข้อมูลสุขภาพของตนเองเป็นประจำ หากพบความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ ก็สามารถนำข้อมูลมาติดต่อนัดพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในศูนย์หัวใจ และศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะรพ.บำรุงราษฎร์ได้ ผ่านทาง Call Center 1378 หรือทางบำรุงราษฎร์แอปพลิเคชัน ที่สะดวกรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการพบแพทย์  ปลอดภัยห่างไกลจากโรคระบาด แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงก็โปรดอย่าได้รอช้า สามารถติดต่อศูนย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่ 02 011 5222 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs