bih.button.backtotop.text

มารู้จักอีกทางเลือกของการรักษาโรคกระดูกสันหลังแบบไม่ผ่าตัด

บทความก่อนๆ ผมได้เขียนถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของการผ่าตัดไปแล้ว วันนี้ผมอยากจะกล่าวถึงการรักษาที่เราใช้บ่อยอีกแบบหนึ่ง แถมมากกว่าการผ่าตัดเสียอีก ผมจะพูดถึงการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดบ้าง ในที่นี้ผมไม่ได้รวมถึงการรักษาอื่นที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญ อย่างเช่นการกายภาพบำบัดหรือไคโรแพรกติกเอาไว้นะครับ


การรักษากึ่งผ่ากึ่งไม่ผ่า

การรักษาแบบ intervention แปลแบบกำปั้นทุบดินเลยก็คือการแทรกแซงครับ พอเป็นภาษาไทยแล้วอาจฟังดูแปลกๆ ตอนนี้ยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่ฟังเข้าใจง่ายๆ เท่าไร ส่วนใหญ่เราจะเรียกทับศัพท์กันไปเสียมากกว่า เวลาคุยกับผู้ป่วยผมก็เรียกสั้นๆ ว่าการฉีดยาไปเลย ที่เรียกว่า intervention หรือแทรกแซงนั้น มาจากการที่การรักษาพวกนี้เป็นการรักษาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการรักษาแบบผ่าตัดกับการรักษาแบบประคับประคอง บางครั้งผู้ป่วยปวดมากๆ อยากจะขอผ่าตัดเพราะทนไม่ไหว ในรายที่ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดยังไม่ชัดเจน การรักษากลุ่มนี้ก็ช่วยทำให้เราหลีกเลี่ยงการผ่าตัดไปได้พอสมควร

เป้าหมายสำคัญของ intervention มี 2 อย่าง นอกจากการลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากโรคกระดูกสันหลังแล้ว การทำ intervention ยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการวินิจฉัยกรณีที่พบความผิดปกติหลายจุดในกระดูกสันหลังเพราะยามีฤทธิ์เฉพาะที่ไม่เหมือนยารับประทาน ดังนั้นหากอาการดีขึ้นหลังฉีดก็จะเป็นการช่วยยืนยันตำแหน่งที่เป็นสาเหตุของอาการปวดหลังได้

การทำ intervention สามารถลดความเจ็บปวดได้จาก 2 วิธีครับ วิธีแรก การฉีดยา แพทย์จะผสมสเตียรอยด์เข้าไปกับยาชา แล้วฉีดเข้าไปจุดที่มีปัญหา เช่น ตำแหน่งที่มีหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือตำแหน่งที่โพรงประสาทมีการตีบแคบ วิธีที่สอง การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปหยุดการทำงานของเส้นประสาทฝอยๆ บริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ดีหากความเจ็บปวดเกิดจากความผิดปกติรุนแรง เช่น เส้นประสาทที่โดนทับมากๆ หรือกระดูกข้อต่อที่หลวมมากๆ กรณีนี้การทำ intervention จะได้ผลไม่ค่อยดีหรือไม่ได้ผลเลยนะครับ ต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป ผลที่เราคาดหวังจากการทำ intervention นั้นคือการลดการอักเสบหรือความเจ็บปวดเพียงชั่วคราว โดยมากจะมีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน บางคนอาจสั้นหรือบางคนอาจยาวกว่านั้นก็มี
 


ขั้นตอนการทำเป็นอย่างไร?

ถึงจะเป็นแค่การฉีดยาโดยใช้เข็มเล็กๆ แต่ก็ต้องใช้เครื่องมือเยอะพอสมควร ข้อแรกเราต้องทำในห้องปลอดเชื้อหรือห้องผ่าตัด เนื่องจากเข็มต้องเข้าไปลึกถึงกระดูกสันหลัง แพทย์ต้องใช้เทคนิคปลอดเชื้อเทียบเท่าการผ่าตัดใหญ่เลยครับ ข้อที่สองเนื่องจากเราต้องการความแม่นยำสูงก็จะต้องใช้เครื่องเอกซเรย์และสารทึบแสงช่วยในการยืนยันตำแหน่งก่อนจะปล่อยยาเข้าไปด้วยครับ เมื่อเตรียมเครื่องมือปลอดเชื้อเสร็จ แพทย์จะเริ่มโดยการฉีดยาชาบริเวณที่จะลงเข็ม แล้วค่อยๆ ใส่เข็มจริงลงไปพร้อมกับเอกซเรย์เป็นระยะๆ จนกว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการ โดยทั่วไปใช้เวลาในการทำทั้งหมดประมาณ 30 นาที ความเจ็บจากการทำก็คล้ายๆ การฉีดวัคซีนครับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับมาบอกว่าเจ็บน้อยกว่าที่กลัวในตอนแรกเยอะ

ใครบ้างที่มีโอกาสรักษาได้ด้วย intervention?

การรักษาแบบ intervention ครอบคลุมโรคทางกระดูกสันหลังกว้างมาก โดยใช้ได้ตั้งแต่ระดับคอจนถึงเอว ตั้งแต่โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โพรงประสาทตีบแคบ ข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ หรือผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงไม่เหมาะที่จะผ่าตัด เป็นต้น โอกาสหายในแต่ละรายแตกต่างกันอยู่พอสมควรขึ้นกับหลายปัจจัย หลักๆ ก็คือความผิดปกติที่เป็นนั้นรุนแรงแค่ไหน


ผลข้างเคียงและผลกระทบระยะยาว

เนื่องจากเป็นการฉีดยาเฉพาะที่ ทำเพียงไม่กี่ครั้ง และอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างดี เราจะไม่พบผลข้างเคียงระยะยาวของการใช้สเตียรอยด์ เช่น กระดูกพรุน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ยกเว้นในผู้ป่วยเบาหวานอาจพบน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ประมาณ 3-4 วันหลังจากทำ ส่วนผลกระทบระยะยาวในแง่ที่ว่าหากต้องมาผ่าตัดภายหลังจะทำให้ทำยากขึ้นหรือไม่ก็ไม่ต้องห่วงนะครับ สำหรับสตรีที่สงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ต้องงดไว้ก่อนเพราะระหว่างทำต้องสัมผัสเอกซเรย์ด้วยเล็กน้อย

ในผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดต้องหยุดยาอย่างน้อย 5-7 วันพร้อมกับตรวจวัดค่าความแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อน อย่างสุดท้ายก็คือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติต้องปรึกษาอายุรแพทย์โรคไตก่อนนะครับว่าไหวหรือไม่ เนื่องจากต้องมีการใช้สารทึบแสงประมาณ 0.5–1 มิลลิลิตรระหว่างที่ทำด้วย

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นครับ intervention ถือเป็นการรักษาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ใครที่พยายามรักษาแบบประคับประคองด้วยการรับประทานยาหรือกายภาพบำบัดมานานแล้วยังไม่ได้ผล รวมถึงกรณีที่ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดยังไม่ชัดเจน การเลือกรักษาแบบ intervention ก็เป็นทางเลือกขั้นต่อไปที่ดีอีกอันหนึ่งที่ความเสี่ยงน้อย ไม่แน่...ท่านอาจเป็นหนึ่งในผู้ป่วยจำนวนมากที่รอดพ้นการผ่าตัดไปได้ก็ได้ครับ

เรียบเรียงโดย สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs