bih.button.backtotop.text

ผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกร รักษาภาวะนอนกรนหยุดหายใจ

ภาวะนอนกรนหยุดหายใจหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในหลายๆด้าน ภาวะนอนกรนหยุดหายใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ในบางกรณีอาจเกิดจากโครงสร้างของกระดูกขากรรไกร รักษาได้ด้วยการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีมานานกว่า 30 ปี

 
เมื่อไหร่ที่ควรผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกร
ข้อบ่งชี้สำคัญในการผ่าตัดมีอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะนอนกรนหยุดหายใจมาจากความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและการสบฟัน เช่น กระดูกขากรรไกรล่างมีขนาดเล็กทำให้ช่องทางเดินหายใจช่องคอระดับลิ้นแคบ สามารถผ่าตัดแก้ไขโดยการเลื่อนกระดูกขากรรไกรล่างออกร่วมกับการจัดฟัน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะนอนกรนหยุดหายใจระดับรุนแรง รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลและตรวจพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาของช่องทางเดินหายใจส่วนต้นแคบ ผ่าตัดแก้ไขโดยการขยับเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่างออกมา (maxillomandibular advancement, MMA) โดยคงความสัมพันธ์ของการสบฟันเดิมไว้ ซึ่งการผ่าตัดนี้จะเป็นการขยายทางเดินหายใจส่วนบนในหลายมิติ ตั้งแต่ระดับหลังโพรงจมูกเพดานอ่อน โคนลิ้น คอหอย และช่วยเพิ่มการตึงตัวของกล้ามเนื้อเพดานและลิ้น
 
การผ่าตัดทำได้อย่างไร
ก่อนการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์จะวางยาสลบให้แก่ผู้ป่วย แพทย์จะใช้แท่งเหล็กที่มีลักษณะโค้ง (arch bar) ครอบลงบนฟันบนและล่าง แล้วมัดแท่งโค้งติดกับฟันบนและล่างด้วยลวดมัดฟัน เพื่อยึดกระดูกขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกันก่อนผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกร หลังจากนั้นแพทย์จะตัดกระดูกขากรรไกรผ่านแผลผ่าตัดเหนือเหงือกใต้ริมฝีปากบนเพื่อเลื่อนขากรรไกรบนมาทางด้านหน้า แล้วยึดกระดูกด้วยวัสดุทางการแพทย์ ต่อมาแพทย์จะทำการตัดกระดูกขากรรไกรล่างบางส่วน ผ่านแผลผ่าตัดใต้เหงือกใต้ริมฝีปากล่างเพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้าด้วยระยะเท่ากับการเลื่อนกระดูกขากรรไกรบน แล้วยึดกระดูกด้วยวัสดุทางการแพทย์  โดยไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นภายนอก ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง

 
เกิดอะไรขึ้นหลังจากการผ่าตัด
ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 คืน โดยแพทย์จะใช้ยางยึดขากรรไกรบนและล่างไว้ด้วยกัน ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในช่วงนี้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารเหลวและน้ำ หลังจากแพทย์เอายางออก ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวขากรรไกรบนและล่างได้ สามารถรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แต่ยังไม่ควรเคี้ยวอาหาร หลังผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ หากผู้ป่วยไม่มีการสบฟันที่ผิดปกติ แพทย์จะเอาเหล็กครอบฟันบนและล่าง (arch bar) และลวดที่ยึดออกและผู้ป่วยสามารถเคี้ยวอาหารอ่อนๆได้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดีตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันโรคเหงือกและฟัน

 
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดมีอะไรบ้าง
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงจากยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียนหรือเจ็บคอจากท่อ
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแผล อาการเจ็บคอ  กลืนน้ำลายลำบาก มีเลือดออกจากช่องปากเนื่องจากมีแผลผ่าตัดในช่องปาก ควรนอนยกศีรษะสูงอย่างน้อย 30 องศา
  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกบวมและชาบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก ปวดบริเวณแผลผ่าตัดและริมฝีปากได้ ควรประคบน้ำแข็งบ่อยๆใน 2 วันแรกเพื่อลดอาการบวม อาการเหล่านี้มักหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกคัดจมูก มีเลือดค้างอยู่ในโพรงจมูก แพทย์อาจแนะนำให้ล้างจมูก หรือพ่นน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก เพื่อชะล้างเลือดที่ค้างออกไป  
  • น้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากอาหารที่รับประทานได้จำกัดในช่วงแรก
  • ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการนอนกรนเนื่องจากทางเดินหายใจบวมหลังการผ่าตัด ซึ่งจะดีขึ้นหลังจากการผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยอาจมีรูปหน้าที่เปลี่ยนไปหลังการผ่าตัด จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 คิดว่ารูปหน้ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และประมาณร้อยละ 20-25 คิดว่ารูปหน้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง
 
 
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด
เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ การผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เช่น
  • การติดเชื้อ
  • ภาวะเลือดออกมากหลังการผ่าตัด
  • ฟันและรากฟันอาจเสียหายได้
  • กระดูกขากรรไกรอาจแตกหักระหว่างการผ่าตัด (fracture of the mandible (the lower jaw))
  • อาการชาระยะยาว (Long standing numbness) จากการกระทบกระเทือนเส้นประสาทสัมผัสบริเวณระหว่างการผ่าตัด
  • กระดูกที่ผ่าตัดไม่เชื่อมติดกัน (Bony non-union) ในคนไข้ที่มีการสมานแผลไม่ดี
 

คลินิกคุณภาพการนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางในการวินิจฉัยและรักษาภาวะการนอนหลับผิดปกติอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัด หากท่านหรือคนที่ใกล้ชิดมีปัญหาในการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนปัญหาการนอนบั่นทอนคุณภาพชีวิต

 
ที่มาของข้อมูลเพิ่มเติม


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs