bih.button.backtotop.text

หลากหลายวิธีในการรักษาโรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากการมีไขมันสะสมมากเกินไปในร่างกาย ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายๆด้าน และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันอุดตัวในเส้นเลือด และความดัน  อย่างไรก็ดีวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาโรคอ้วนได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น


4 วิธีในการรักษาโรคอ้วน
 
1. การปรับพฤติกรรม

ขั้นตอนแรกของการจัดการกับโรคอ้วน คือ ปรับพฤติกรรมของตนเองทั้งทางด้านการกิน การออกกำลังกายและการใช้ชีวิตประจำวัน

  • พฤติกรรมการกินอาหาร กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกข้าวหรือขนมปังที่มีกากใยสูง เนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย หลีกเลี่ยงหนังสัตว์ หากไม่กินเนื้อสัตว์ สามารถกินเต้าหู้ ไข่หรือปลาแทนได้ สำหรับผัก  ควรเลือกกินผักสีรุ้งหรือยิ่งหลายสียิ่งดีโดยไม่จำกัดปริมาณ   ผลไม้ให้เลือกชนิดที่หวานน้อยเท่านั้น สุดท้าย คือ ไขมัน ให้เลือกใช้น้ำมันตามวิธีการปรุงอาหาร นอกจากนี้ควรแบ่งการกินเป็นมื้อเล็กๆ อาหารเช้าสำคัญที่สุด ควรกินให้เพียงพอ อาหารเย็นควรกินน้อยที่สุด สำหรับมื้อว่างระหว่างมื้อ อาจเป็นผลไม้หรือถั่วอบที่ไม่ใส่เกลือ

  • พฤติกรรมการออกกำลังกาย การออกกำลังกายหลักๆมีอยู่ 2 แบบ หากต้องการลดน้ำหนักควรออกกำลังกายทั้งแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิก เช่น วิ่ง หรือต่อยมวย ซึ่งมุ่งเผาผลาญพลังงาน และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เพื่อเผาผลาญไขมันที่อยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและร่างกายกระชับมากขึ้น

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งเฉยๆ เช่น ดูทีวี เล่นเกมส์มาเป็นการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
 
2. การควบคุมน้ำหนักโดยใช้ยา

ในกรณีที่ผู้ป่วยพยายามปรับพฤติกรรมของตัวเองแล้วแต่ยังลดน้ำหนักไม่ได้ หรือน้ำหนักลดแล้วแต่กลับขึ้นมาใหม่ หรือสงสัยว่ามีโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง เบาหวาน ปวดศีรษะทุกเช้า กลางคืนเหมือนนอนไม่พอ ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษา แพทย์อาจให้ยาเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ช่วยให้ไม่หิวและอิ่มเร็วขึ้น ยาลดน้ำหนักบางชนิดยังช่วยรักษาโรคที่มีอยู่ได้อีกด้วย เช่น ไขมันเกาะตับ ลดระดับน้ำตาลในผู้ที่เป็นเบาหวาน ลดระดับไขมันและความดันโลหิต
 

3. การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric Surgery)

เป็นการผ่าตัดให้กระเพาะอาหารเล็กลงเพื่อให้ผู้ป่วยกินอาหารแล้วอิ่มเร็วขึ้นหรือลดการดดูดซึมอาหาร ลดแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ การผ่าตัดกระเพาะอาหารทำได้ 2 วิธีใหญ่ๆคือ

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง (Sleeve gastrectomy) เป็นการผ่าตัดกระเพาะให้มีรูปทรงเหมือนกล้วยหอม ทำให้ความจุของกระเพาะอาหารลดลง (restrictive) และทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่มีผลทำให้น้ำหนักลดลงผ่านหลายกลไก เช่น ฮอร์โมน ghrelin, GLP-1, GLP-2, PYY, insulin, glucagon และ leptin โดยไม่มีผลกระทบต่อการดูดซึมแคลอรี่และสารอาหารในลำไส้

  • การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร (Roux-en-Y gastric bypass) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระเพาะอาหาร ให้สารอาหารข้ามส่วนที่มีการดูดซึมมากบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ไปยังลำไส้ส่วนกลางหรือส่วนปลาย (malabsorptive) ช่วยให้ผู้ป่วยกินได้น้อยลง ลดปริมาณแคลอรี่ที่เข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยในการลดย้ำหนัก เช่น ฮอร์โมน gastrin, ghrelin, GLP-1, GLP-2, PYY, oxyntomodulin, insulin, GIP และ leptin

4. การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร (Endoscopic Sleeve Gastroplasty: ESG)

เป็นการเลียนแบบวิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง (Sleeve gastrectomy) แต่แทนที่จะผ่าตัดทางช่องท้อง แพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้องผ่านหลอดอาหารลงไปที่กระเพาะ เพื่อทำการเย็บกระเพาะให้มีขนาดเท่ากับผลกล้วยหอม ทำให้กระเพาะอาหารมีพื้นที่น้อยลง ผู้ป่วยอิ่มเร็วขึ้น

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ข้อดีคือทำได้ด้วยตัวเองแต่เมื่อผ่านไปประมาณ 6 เดือน ร่างกายจะมีการปรับตัวทำให้น้ำหนักที่ลดลงไปกลับขึ้นมาใหม่ได้

  • การใช้ยา ข้อดีคือช่วยประคับประคองให้การลดน้ำหนักที่ลดได้แล้วอยู่อย่างถาวร อย่างไรก็ตามโรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรัง เพราะฉะนั้นหากผู้ป่วยหยุดยา ร่างกายอาจกลับมาอ้วนขึ้นมาใหม่

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหาร สามารถทำให้น้ำหนักลงลงได้ในปริมาณที่เยอะ ถึง 60-70% ของน้ำหนักที่เกินมา ข้อเสียคือ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดช่องท้องทั่วๆไป เช่น ภาวะเลือดออก รอยผ่าตัดรั่วหรือติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อาการแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดขึ้นได้น้อยในมือศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการ

  • การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร มีข้อดีคือไม่มีแผลที่หน้าท้อง ดังนั้นผู้ป่วยจึงเจ็บน้อยและฟื้นตัวเร็ว อย่างไรก็ตามอาจมีโอกาสติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมากหากทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ รวมถึงอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งต้องผ่านการเตรียมคนไข้ด้วยทีมผู้ชำนาญการ และมักหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน การใช้ยาเสริมควบคู่ไปกับการเย็บกระเพาะอาหารสามารถทำให้ลดน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังพบว่าการเย็บกระเพาะอาหารส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้น้อยมาก (2%) เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบ sleeve gastrectomy (15%) และเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยรวมน้อยมาก (2%) เมื่อเทียบกับการใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหาร (17%) นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารจะต้องทำการถอดบอลลูนออกเมื่อเข้าเดือนที่ 6 ทำให้กลับมามีน้ำหนักเพิ่มได้ตามเดิมหรือมากกว่าเดิม การส่องกล้องผ่านทางปากเพื่อเย็บกระเพาะอาหารจึงส่งผลให้การควบคุมน้ำหนักระยะยาวได้ผลดีกว่าการรักษาแบบใส่บอลลูน
 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีไหน
การรักษาโรคอ้วนเป็นการรักษาที่ใช้ผู้ชำนาญการหลายสาขา ดังนั้นผู้ป่วยควรเลือกรักษาในสถานรักษาพยาบาลที่มีผู้ชำนาญการหลายด้านเพื่อให้ลดน้ำหนักได้อย่างถูกวิธี ปลอดภัยและได้ผลยั่งยืน เช่น ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดลดความอ้วน แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโภชนาการ



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs