bih.button.backtotop.text

ข้อควรรู้ก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ครั้งที่แล้วผมได้เขียนถึงการรักษาแบบ intervention ซึ่งถือเป็นการรักษาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการรักษาแบบประคับประคองตามอาการกับการผ่าตัดนะครับ แต่หากเราได้พยายามถึงที่สุดกันแล้วแต่การรักษาไม่เป็นผลก็ถึงเวลาที่เราต้องพิจารณาขั้นต่อไปซึ่งก็คือการผ่าตัดกันแล้วครับ

ข้อมูลด้านล่างเป็นคำถามที่ผมแนะนำให้พูดคุยกับแพทย์ให้เข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดนะครับ

1. ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด (Indication for surgery)

ผมยกคำถามนี้มาเป็นคำถามแรกเพราะเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด ผมต้องตอบตัวเองเสมอเวลาที่จะแนะนำให้ผู้ป่วยของผมสักคนเข้ารับการผ่าตัด ว่ามันถึงเวลาจริงๆ หรือยังที่จะต้องผ่าตัด การผ่าตัดไม่ว่าความเสี่ยงจะต่ำแค่ไหนก็ไม่คุ้มเสี่ยงครับหากเป็นการผ่าตัดที่ไม่มีข้อบ่งชี้

สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ข้อบ่งชี้ที่พบบ่อยที่สุดคือ การที่เส้นประสาทสันหลังถูกกดทับจนมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รองลงมาก็คืออาการปวดทรมานที่รักษาด้วยวิธีการอื่นไม่หาย

2. โอกาสสำเร็จ กับความเสี่ยงของการผ่าตัด (และการไม่ผ่าตัด?)

เรื่องความเสี่ยงกับโอกาสสำเร็จ ผมคิดว่าคงเป็นคำถามที่ทุกคนได้คุยโดยละเอียดอยู่แล้วจึงขอข้ามรายละเอียดไป แต่มีสิ่งที่ผมอยากให้ถามเพิ่มคือความเสี่ยงของ “การไม่ผ่าตัด” มากกว่าครับ กรณีที่เลือกแผนการรักษาแบบไม่ผ่าตัดควรจะคำนึงถึงความเสี่ยงจุดนี้ด้วยว่าจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง เพราะโรคบางอย่างเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ไม่ควรรอ โดยเฉพาะเมื่อมีไขสันหลังโดนกดทับ ยิ่งเข้ารับการผ่าตัดเร็วโอกาสฟื้นตัวก็ยิ่งมากขึ้น

3. มีการเชื่อมกระดูกด้วยหรือไม่?

การผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อ “คลายการกดทับของเส้นประสาท” คุณหมอจึงต้องไปตัดอะไรสักอย่างที่กดเส้นประสาทอยู่ออก การที่คุณหมอต้องตัดอะไรออกไปย่อมทำให้ความแข็งแรงของกระดูกสันหลังลดลงไม่มากก็น้อย ดังนั้นบางครั้งแพทย์ต้องใส่อุปกรณ์โลหะไปยึดตรึงกระดูกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงด้วย

อย่างไรก็ดีการผ่าตัดยึดโลหะไม่ได้มีแต่ข้อดีครับ เนื่องจากข้อต่อที่เหลือต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยการทำงานของข้อที่ถูกยึดไป ดังนั้นก่อนการผ่าตัดเชื่อมกระดูกเราต้องประเมินสภาพของข้อติดกันเสมอ หลักการก็คือพยายามยึด (หรือเชื่อม) กระดูกให้น้อยที่สุด เพื่อให้ข้อที่เหลือไม่ต้องรับภาระมาก

4. กระดูกสันหลังของเรามีกี่ปล้อง?

ส่วนมากมนุษย์เรามีกระดูกสันหลังส่วนเอวคนละ 5 ปล้อง แต่อาจจะมีส่วนน้อย (ประมาณ 10-20%) ที่มีจำนวนปล้องกระดูกที่เอวจำนวน 4 ปล้อง หรือ 6 ปล้อง จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรสำหรับผู้ป่วยครับ แต่เป็นเรื่องที่หมอผ่าตัดต้องเช็กทุกๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการผ่าตัดผิดระดับ

5. โลหะที่ใช้เป็นชนิดใด

ปัจจุบันโลหะที่ใช้สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังแทบทั้งหมดทำมาจากไทเทเนียมซึ่งไม่ก่อปฏิกิริยากับร่างกายในระยะยาว รวมถึงผู้ป่วยยังสามารถเข้ารับการตรวจ MRI ได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย อย่างไรก็ตามเรายังพบเห็นการใช้โลหะชนิดเก่าอย่าง stainless steel อยู่บ้าง ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังหากเลือกใช้อุปกรณ์ที่เข้ากันได้กับเครื่อง MRI จะดีที่สุดครับ

6. มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่หรือไม่?

กระดูกสันหลังมีข้อต่อหลายปล้อง การผ่าตัดรักษาโรคทางกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้ายการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด ซึ่งหลังจากซ่อมแล้วเราก็ยังต้องใช้มันต่อ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเป็นใหม่อีก แต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน จุดนี้ต้องปรึกษาคุณหมอให้ละเอียดครับว่าจะหลีกเลี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำได้อย่างไร

7. คุณหมอทำการผ่าตัดชนิดนี้ในโรงพยาบาลนี้บ่อยหรือไม่?

ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมบอกผู้ป่วยทุกครั้งโดยไม่รอให้ถามเลยครับ เพราะเข้าใจว่าเป็นคำถามที่คนไม่ค่อยกล้าถามกัน โดยเฉพาะสำหรับคนไทย การผ่าตัดนับเป็นงานฝีมือชนิดหนึ่งที่ยิ่งทำบ่อยก็ยิ่งชำนาญ นอกจากนั้นแล้วทีมงานที่รู้ใจในห้องผ่าตัดก็สำคัญมาก ทั้งวิสัญญีแพทย์ พยาบาลส่งเครื่องมือ นักรังสีเทคนิค ฯลฯ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นแพทย์ที่ประจำที่โรงพยาบาลแห่งนั้นก็มักจะมีทีมงานประจำตัวอยู่แล้วครับ

8. เทคโนโลยีใหม่ๆ

ปัจจุบันมีเครื่องมือใหม่ๆ หลายอย่างที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่อุปกรณ์โลหะ กล้องเอ็นโดสโคปที่ช่วยทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น หรืออุปกรณ์ตรวจเส้นประสาทขณะผ่าตัด อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีเหล่านี้บางอย่างต้องมีการฝึกฝนอย่างจริงจัง และยังไม่ได้มีแพร่หลายในทุกโรงพยาบาลนะครับ

คำถามดังกล่าวข้างต้นเป็นคำถามที่ผมคิดว่าทุกท่านควรจะต้องถามแพทย์ก่อนจะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังนะครับ โชคดีที่ว่าโรคกระดูกสันหลังส่วนมากแล้วไม่ได้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดแบบเร่งด่วนเท่าไร ท่านยังมีเวลาคิด ตัดสินใจ หาข้อมูล หรือปรึกษาแพทย์หลายๆ ท่านเพื่อให้ได้ความคิดที่แตกต่างกัน นำมาประมวลผลและหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราเอง

สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะช่วยแนะแนวทางในการปรึกษาแพทย์ให้กับทุกท่านได้นะครับ

เรียบเรียงโดย สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs