หลายท่านคงจะเคยรับการรักษาเรื่องโรคทางกระดูกสันหลังกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าสังเกตให้ดีแพทย์มักจะซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อต้องการข้อมูลที่นำมาซึ่งการวินิจฉัย แม้ว่าอาการทั้งหมดโดยรวมจะแค่
“ปวดหลัง” ก็ตาม ในบทความนี้หมอจะมาแนะนำว่าประวัติต่างๆที่หมอซักไป นำมาซึ่งข้อมูลอะไรที่จะเป็นประโยชน์ในกาารักษาบ้างครับ
“อาการปวดหลังตรงไหนต้องระบุให้ชัดเจน” เป็นเรื่องจริงอยู่ว่าแผ่นหลังเรามีความกว้างไม่น้อยเลยทีเดียว อาการปวดแต่ละจุดก็จะบอกถึงที่มาของอาการปวดได้เช่น การปวดที่ตำแหน่งข้างๆของกระดูกสันหลัง สาเหตุมักเกิดจากกล้ามเนื้อหรือข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ การปวดที่จุดเดียวกลางหลังอาจจะบ่งบอกถึงกระดูกสันหลังที่มีปัญหาได้
“อาการปวดร้าวลงขาต้องระบุว่าปวดไปตามแนวไหน” อาการปวดร้าวลงขาอาจเกิดจากเส้นประสาทหลังถูกกดทับซึ่งการให้ประวัติได้ว่าปวดร้าวไปที่ใด ไม่ว่าจะเป็นหน้าขา หลังขา ข้างเท้า ในเท้าก็ตาม ถ้าสามารถระบุละเอียดได้ก็จะเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะเส้นประสาทที่แตกออกมาจากข้างหลังของร่างกายเรามีหน้าที่ไปเลี้ยงส่วนขาแต่ละจุดซึ่งแตกต่างกันออกไป
“อาการดังต่อไปนี้ต้องบอกแพทย์ทันที ถ้ามีอาการ” อาการปวดหลังร่วมกับ มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตอนกลางคืนจนนอนไม่หลับ อ่อนแรงขา ปัสสาวะ อุจจาระลำบากมากขึ้น เพราะอาการเหล่านี้บ่งบอกถึงโรคบางอย่างซึ่งควรต้องรีบรักษาเช่น มะเร็ง ติดเชื้อ หรือการถูกกดทับที่ไขประสาทอย่างมาก
“อยากให้มีความรู้สึกที่สบายและสามารถถามกระบวนการรักษาได้ตลอด” หลังจากที่หมอซักประวัติเสร็จ บางรายอาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเช่นการ Xray หรือ
MRI ขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องทำหรือไม่ จึงอยากบอกเลยว่าในกระบวนการนี้ถ้าผู้ป่วยเกิดความสงสัยว่าส่งตรวจไปเพื่ออะไรหรือไม่ส่งตรวจเพราะว่าอะไร สามารถสอบถามหมอที่ตรวจได้เลยครับ
“ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัด ควรถามอะไรบ้าง” โดยส่วนใหญ่ถ้าเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแล้วหมอจะแจ้งข้อมูลโดยรวมว่าการผ่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร แต่มีข้อมูลบางอย่างที่คนไข้ควรจะต้องทราบและสามารถถามหมอได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองเช่น มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง พักฟื้นกี่วัน หลังผ่าแล้วสามารถทำอะไรได้หรือห้ามทำอะไร โอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม เป็นต้น
เห็นไหมครับว่าการหาหมอ 1 ครั้งเรื่องอาการปวดหลัง มีข้อมูลที่คนไข้ควรจะใส่ใจมากน้อยเพียงใด สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าข้อสงสัยเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ถ้าคนไข้สงสัยในโรคของตัวเองอยากให้ถามเลย เพราะโรคนั้นเกิดขึ้นกับเรา การรักษาจะเป็นทางไหน เราต้องเป็นคนที่รู้ถึงข้อดี ข้อเสียที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของการรักษาครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
หมอเข้ม หรือ
น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์
ศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ. บำรุงราษฎร์
หมอแมท หรือ นพ. ปวินท์ เกษมพิพัฒน์ชัย
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อเเละศัลยกรรมกระดูกสันหลัง - Bumrungrad Health Network
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: