bih.button.backtotop.text

“ไข้หวัดใหญ่” รักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อไวรัส!

ไข้หวัดใหญ่คืออะไร?

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu) คือ โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza สามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อไวรัส หลายท่านอาจคิดว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้วไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนหลังติดเชื้อหรือถึงแก่ชีวิตได้ 

จากข้อมูลรายงานโรคในระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ถึง 11 ราย และพบผู้ป่วยสูงถึง 1.6 แสนราย ดังนั้น จึงไม่ควรนิ่งนอนใจหากท่านหรือคนในครอบครัวมีอาการของไข้หวัดใหญ่
 

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปแล้วจะยังเป็นไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่?

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ควรได้รับทั้งในคนสุขภาพดีและคนกลุ่มเสี่ยง  เนื่องจากวัคซีนทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อไข้หวัดใหญ่และลดความรุนแรงของโรคลงได้ อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่นักวิจัยบรรจุลงในวัคซีนในแต่ละปี เป็นเพียงการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งอาจไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในปีนั้นๆ
โดยรวมวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในกันป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ท่านยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ได้ถูกบรรจุลงในวัคซีนได้ประมาณ 40-90 เปอร์เซนต์ ดังนั้น แม้ท่านได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไปแล้ว ยังคงมีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 
 

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ?

ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่
  • เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดไม่เกิน 2 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพบางชนิดเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต หรือระบบภูมิต้านทานต่ำ
เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการป่วยหนักกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีโรคประจำตัว อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งการได้รับวัคซีน สามารถป้องกันท่านจากเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือลดความรุนแรงของโรคลง และยังป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่สู่ผู้อื่นโดยเฉพาะคนในครอบครัวได้
 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่?

ไข้หวัดใหญ่มักแสดงอาการที่อาจทำให้ท่านสับสนกับไข้หวัดทั่วไป โดยอาการแสดงเด่นๆ ที่อาจทำให้ท่านสงสัยได้ว่าตนเองติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ นั่นคือ ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ท้องเสีย  โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที  ซึ่งหากท่านมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
 

ไข้หวัดใหญ่ รักษาได้อย่างไร?

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส  ดังนั้น วิธีการรักษาที่เป็นการรักษาที่ต้นเหตุและถูกต้อง คือ การรับประทานยาฆ่าเชื้อไวรัส (Antivirals) ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส Influenza ในร่างกาย ส่งผลให้ระดับเชื้อไวรัสในร่างกายลดระดับลง ทำให้อาการของไข้หวัดใหญ่บรรเทาและลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น  ความจำเป็นในการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงสูงหรือมีความจำเป็นในการใช้ 

                อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
 

ยาฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีอะไรบ้าง?

ยาฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้ในประเทศไทย ปัจจุบันมี 3 ชนิด แตกต่างกัน ดังนี้
 
ชื่อสามัญทางยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ คำแนะนำ
Oseltamivir ยารับประทาน ใช้ได้ตั้งแต่เด็กเล็กอายุ 14 วันขึ้นไป
Zanamivir ยาสูดพ่นทางจมูก ใช้ได้ตั้งแต่เด็กเล็กอายุ 14 วันขึ้นไป
Baloxavir ยารับประทานเพียงครั้งเดียว ใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึง 64 ปี

โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาชนิดใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความปลอดภัยต่อสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย
 

เราจะห่างจากไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?


ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่มักระบาดในหน้าฝน และหน้าหนาว  หากต้องการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อนี้ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่  และในแต่ละปีควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย
หากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และเริ่มมีอาการ  ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นและรีบมาพบแพทย์หากมีอาการของไข้หวัดใหญ่
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 

Reference:

  1. Centres for Disease Control and Prevention. Key Facts About Influenza (Flu) [Internet; cited 2018 July]. Available from: https://www.cdc.gov/flu/keyfacts.htm.
  2. Rothberg, Haessler and Brown. Complications of viral influenza. Am J Med. 2008;121(4):258–64.
  3. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ Influenza. Available from: http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y62/d15_2062.pdf
  4. World Health Organization. Influenza (Seasonal) [Internet; cited 2018 July]. Available from: http://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/influenza-(seasonal).
  5. Centres for Disease Control and Prevention. Seasonal Influenza Vaccine Effectiveness, 2005–2018 [Internet; cited 2018 July]. Available from: https://www.cdc.gov/flu/professionals/vaccination/effectiveness-studies.htm.
  6. Centers for Disease Control and Prevention. People at High Risk of Developing Serious Flu-Related Complications. Available from: https://www.cdc.gov/flu/about/disease/high_risk.htm . Last accessed: October 2018.
  7. Paules and Subbarao. Influenza. Lancet. 2017;390(10095):697–708.
  8. Centers for Disease Control and Prevention. Influenza Antiviral Medications: Summary for Clinicians [Internet; cited 2018 July]. Available from: https://www.cdc.gov/flu/professionals/antivirals/summary-clinicians.htm
  9. MIMS Thailand (2018). MIMS Drug Reference: 152nd Edition 2018;249-250
  10. XOFLUZA [prescribing information] Bangkok: Roche Thailand Ltd., 2018


Contact information:
Drug Information Service
ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: 02 011 3399
Email: [email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs