bih.button.backtotop.text

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น ด้วย Low-Dose CT, LDCT

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะมะเร็งปอดมักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ทำให้รักษาได้ยากและผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่สุด ในทางกลับกัน หากตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดได้จะมีสูงถึง 90%

เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงมักทำในคนที่สูบบุหรี่ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันเริ่มมีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่เคยสูบบุหรี่และไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่มีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่ แต่ก็เป็นมะเร็งปอด ดังนั้นการเน้นการตรวจคัดกรองแต่เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะทำให้ไม่ได้ตรวจและไม่พบผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นในกลุ่มนี้

ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสมารถทำได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography, LDCT) ซึ่งการตรวจนี้เป็นวิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา และการศึกษาทางคลินิกก็พบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น ด้วยวิธี LDCT ประจำปี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดได้สูงถึงร้อยละ 20 ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ขณะที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ นั้น มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า โดยที่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจ น้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Computed Tomography (CT)–Chest)

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการตรวจ
  1. ผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ 20 มวน/วัน ติดต่อกัน 30 ปีขึ้นไป หรือ สูบบุหรี่ 40 มวน/วัน ติดต่อกัน 15 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่หยุดสูบบุหรี่มาแล้ว แต่น้อยกว่า 15 ปี
  2. ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับสารพิษเช่น แร่ใยหิน (Asbestos) ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  3. ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) หรือโรคผังผืดที่ปอด (Pulmonary fibrosis)

ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น และอาจได้รับประโยชน์จากการตรวจ ได้แก่
  1. ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่
  2. ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
*** โดยต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งใดๆ มาก่อน

การตรวจนี้ไม่เหมาะกับ
  1. บุคคลที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
  2. ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะมีบุตร
*** สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งรักษาหายแล้ว แต่น้อยกว่า 5 ปี หากจำเป็นต้องได้รับการตรวจ ควรตรวจด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน เพื่อการวินิจฉัย (CT-Chest)


เรียบเรียงโดย นพ. ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ และแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs