bih.button.backtotop.text

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบอันตราย

05 กรกฎาคม 2556
ปวดหัว อาการที่ดูเหมือนธรรมดา แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นอาการสำคัญและเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางสมองและระบบประสาทหลายๆ โรค หนึ่งในนั้นก็คือ โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ซึ่งรุนแรงและอันตราย อาจทำให้พิการจนถึงเสียชีวิต
 
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือด เช่น ผนังหลอดเลือดในบางตำแหน่งบางลง เมื่อมีการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดเรื่อยๆ ก็ทำให้หลอดเลือดที่บางนั้นโป่งพองออกมา ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น โรคถุงน้ำที่ไต (polycystic kidney disease) ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ (coarctation of aorta) เป็นต้น
 
ความน่ากลัวของโรคนี้ก็คือ ถ้าหลอดเลือดไม่แตกก็จะไม่มีอาการแสดง ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อหลอดเลือดแตกและมีเลือดออกในสมองแล้ว โดยจากงานวิจัยพบโอกาสการแตกของหลอดเลือดคือ 0.1% ต่อปี แม้ดูเหมือนโอกาสที่เกิดจะไม่มากนัก แต่เมื่อไรก็ตามที่หลอดเลือดแตกผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ถ้าเข้ารับการรักษาไม่ทันหรือการรักษาไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตหรือต้องทนทุกข์ทรมานกับภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตไปตลอดชีวิต
 
ในทางกลับกัน ก็มีผู้ป่วยบางราย (แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น) ที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองนี้โดยบังเอิญจากการตรวจรักษาโรคหรือภาวะอื่น ซึ่งนับว่าโชคดีเพราะทำให้สามารถวางแผนจัดการกับโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในกรณีของผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยเฉพาะสองรุ่นขึ้นไป ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพราะอาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
 
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ทำได้โดยการห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพอง เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดโตขึ้นจนอาจแตกได้ ซึ่งวิธีที่ศัลยแพทย์ใช้ ได้แก่ การใช้คลิปหนีบที่บริเวณหลอดเลือดโป่งพอง (clipping) หรือการใส่ขดลวด (coil) เข้าไปเพื่อทำให้เกิดลิ่มเลือดในบริเวณที่มีการโป่งพองนั้น ทั้งนี้การจะรักษาด้วยวิธีใด แพทย์จะพิจารณาถึงตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของหลอดเลือดที่โป่งพอง รวมถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย
 
แม้โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองจะดูเหมือนเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า สิ่งสำคัญมากๆ ที่อยากฝากไว้คือ หากมีอาการปวดหัวที่ผิดปกติแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (unusual headache) หรือปวดหัวที่รุนแรงที่สุดในชีวิต (the worst headache in my life) อย่ารอช้า ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที หากตรวจพบความผิดปกติ จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่อาการจะรุนแรงจนสายเกินแก้ไข
 
 
เรียบเรียงโดย นายแพทย์ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs