bih.button.backtotop.text

สุขภาพของเต้านม ไม่ใช่แค่มะเร็งที่คุณต้องระวัง

20 มกราคม 2551
เมื่อพูดถึงเรื่องหน้าอกหน้าใจของคุณผู้หญิงแล้ว หลายคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ "ขนาด" ขณะที่อีกหลายคนนึกไปถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็งเต้านม ทั้งที่ความจริงแล้วอวัยวะสำคัญของผู้หญิงส่วนนี้ยังสามารถเกิดการเปลี่ยน แปลงจนอาจพัฒนากลายเป็นโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นๆ ได้อีกหลายประการ

Better Health ฉบับนี้จึงได้นำเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพเต้านมของผู้หญิงมาฝากกัน โดยเราได้พูดคุยกับนายแพทย์พงษ์นเรศ ปุระสิริ ศัลยแพทย์เต้านม ถึงวิธีการสังเกตและดูแลสุขภาพเต้านมเพื่อให้ผู้หญิงได้มีความรู้ความเข้าใจ และห่างไกลจากโรคร้ายที่เกี่ยวข้องกับเต้านมของคุณได้อย่างแท้จริง

รู้จักกับโครงสร้างของเต้านม

เต้านมของผู้หญิงประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม 15 - 20 ต่อม ซึ่งภายในจะมีต่อมน้ำนมเล็กๆ อยู่อีกจำนวนมาก ตรงปลายของต่อมน้ำนมเล็กๆ จะมีถุงกระเปาะขนาดเล็กเป็นแหล่งผลิตน้ำนม ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อถึงกันโดยท่อน้ำนมและจะไปสิ้นสุดที่หัวนม ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมจะเป็นไขมันแทรกตัวอยู่โดยมีกล้ามเนื้อรองรับเต้านมอยู่เหนือกระดูกซี่โครงอีกชั้นหนึ่ง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

ลักษณะของเต้านมจะเปลี่ยนแปลงตามตัวแปรในช่วงต่างๆ เช่น อายุ ช่วงระหว่างมีรอบเดือน การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การใช้ยาคุมกำเนิด และช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งการคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ จะทำให้คุณทราบว่าเต้านมในแต่ละช่วงมีความเปลี่ยนแปลงหรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่

"ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคลำหาก้อนที่ผิดปกติในเต้านม ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจ คือ 7 - 10 วัน หลังจากวันสุดท้ายของรอบเดือน โดยใช้มือขวาคลำเต้านมข้างซ้าย และใช้มือซ้ายคลำเต้านมด้านขวา จากนั้นจึงกดคลำให้ทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ด้วยการหมุนไปรอบๆ ตามเข็มนาฬิกา หากพบว่ามีก้อนผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ เพราะแพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ยืนยันว่าก้อนที่คุณคลำได้นั้นเป็นก้อนที่ผิดปกติจริงหรือไม่" นายแพทย์พงษ์นเรศกล่าว

ภาวะผิดปกติของเต้านมมีอะไรบ้าง

ภาวะผิดปกติของเต้านมมีทั้งชนิดที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง เริ่มตั้งแต่

ก้อนที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Breast Lump) โดยทั่วไปก้อนที่เต้านม มักพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากสาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้
  • ไฟโบรซิสติค (Fibrocystic Disease) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ จนมีก้อนโตขึ้นและเจ็บเต้านมก่อนจะมีรอบเดือน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสองข้างหรือข้างเดียวแต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อรอบเดือนหมด และจะหายไปเองเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา
  • ไฟโปรอดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกไม่ร้ายแรงที่เป็นก้อนแข็งขนาดราวๆ 1 - 5 เซนติเมตร ประกอบด้วยพังผืดและเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำนม มักไม่มีอาการเจ็บแต่อาจรู้สึกคัดเต้านมบ้าง ก่อนมีรอบดือนเวลาคลำดูจะรู้สึกว่ามันกลิ้งไปมาได้ มักเกิดในผู้หญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาก้อนออก
  • เซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย (Fat Necrosis) เกิดจากการที่เต้านมได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงและมีเลือดออกในเต้านม มักเกิดในคนที่มีเต้านมใหญ่หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่แม้แต่ผู้ป่วยเองก็อาจไม่รู้ตัว ทำให้ไขมันเกิดการอักเสบรวมกันเป็นก้อนและมีอาการช้ำซึ่งอาจจะปวดหรือไม่ก็ได้ สังเกตดูจะพบว่าผิวหนังด้านบนช้ำเลือดช้ำหนอง อาการนี้อาจหายไปได้เองหรือจะทำการผ่าตัดเอาออกก็ได้
  • ซีสต์ (Cysts) คือเนื้องอกที่เป็นถุงน้ำ บางครั้งอาจเป็นก้อนที่อ่อนนุ่มและเกิดขึ้นก่อนมีรอบเดือน แพทย์อาจทำการรักษาโดยเจาะของเหลวออก ซึ่งหากก้อนยุบลงทันทีหลังจากเจาะและของเหลวนั้นไม่มีสีหรือออกเป็นสีเขียว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเพิ่ม แต่ถ้าหากของเหลวมีเลือดเจือปนก็ต้องส่งไปตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
การมีน้ำคัดหลั่งออกมาทางหัวนม (Nipple Discharge) ภาวะเช่นนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของท่อน้ำนม มะเร็งเต้านม ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด และระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์หากพบว่ามีน้ำคัดหลั่งจากหัวนมไหลออกมาเองโดยไม่ได้อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

เต้านมอักเสบ (Mastitis) เป็นการอักเสบบริเวณเต้านมที่พบได้บ่อยในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมจนทำให้น้ำนมสะสมตัวอยู่ภายในจนเกิดการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย อาการที่พบคือมีก้อนที่เต้านม ปวด บวมแดง และรู้สึกเจ็บเมื่อโดนกดเต้านมบริเวณที่อักเสบ ในเบื้องต้นแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา แต่ถ้าพบว่ามีฝีหรือหนองอักเสบอยู่ภายในก็อาจต้องเจาะหนองหรือผ่าตัดออก

ท่อน้ำนมโป่งพอง (Mammary duct ectasia) มักเกิดกับผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากการอักเสบและอุดตันของท่อน้ำนมบริเวณใต้หัวนม ทำให้เกิดการเจ็บปวดและมีน้ำคัดหลั่งที่ข้นเหนียวสีเทาถึงสีเขียวออกมาทางหัวนม วิธีการรักษาคือให้ใช้น้ำร้อนประคบและบีบเค้นเบาๆ ให้น้ำคัดหลั่งไหลออกมาจนหาย ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ และหากจำเป็นก็อาจต้องทำการผ่าตัดเอาท่อน้ำนมที่อักเสบออก

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) จัดเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงของเต้านม มักไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มต้น แต่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เต้านมหรือที่เรียกว่าแมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมกับการอัลตร้าซาวด์ของเต้านม ในระยะถัดมาผู้ป่วยจะสามารถคลำพบก้อนภายในเต้านมได้ด้วยตนเองโดยไม่รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งก้อนที่พบจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดไปตามระยะของการมีรอบเดือน และอาจมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม หรือผิวหนังเหนือเต้านมขรุขระเหมือนผิวส้ม

มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ แต่หากพบในระยะที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่างๆ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย โอกาสรักษาก็จะลดน้อยลง

"จะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพเต้านมของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ รวมถึงการสังเกตลักษณะของเต้านม และอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงสุขภาพภายในเต้านมได้ ขณะที่การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการและวินิจฉัยก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน" นายแพทย์พงษ์นเรศกล่าว
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs