bih.button.backtotop.text

โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

เคยหรือไม่ที่มีอาการเจ็บที่ส้นเท้าจนลามไปทั่วฝ่าเท้า โดยเฉพาะจะมีอาการปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอนหรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน หากเคย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ”
 
โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือที่มักจะรู้จักกันในชื่อ โรครองช้ำ เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยจะพบมากในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุของโรคอาจเกิดได้จาก 
  • การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องยืนเป็นเวลานานในระหว่างวัน เช่น ผู้ที่ต้องยืนตลอดกะการทำงานทั้ง 8 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น
  • น้ำหนักตัวมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
  • สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า
  • ลักษณะการทำกิจกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เพิ่มระยะทางการวิ่งออกกำลังกาย การเดิน/วิ่งบนพื้นผิวที่ต่างไปจากเดิมหรือบนพื้นผิวแข็ง (เช่น พื้นซีเมนต์หรือคอนกรีต)
  • เอ็นร้อยหวายยึด ทำให้ส้นเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
  • ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งมากเกินไป หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่องทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ 

อาการหลักๆ ของโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ คือ อาการเจ็บที่ส้นเท้าและลามไปทั่วฝ่าเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย ลักษณะของอาการเจ็บจะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดแสบ โดยมากความเจ็บปวดจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย จนคิดว่าเดี๋ยวอาการปวดก็หายไป แต่ก็จะกลับมาปวดอีก อาการปวดจะรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันและ/หรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น 
 
 
สำหรับการรักษาโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ ทำได้โดย
  • รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูก เช่น อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าด้านใน (arch support) และ/หรืออุปกรณ์รองรับส้นเท้า (heel cushion)
  • ทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกยืดเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • ฉีดสเตียรอยด์ แต่เป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก โดย 98% ของผู้ที่ได้รับการฉีดสเตียรอยด์จะรู้สึกดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลานานถึง 18 เดือนจึงจะหายขาด และในบางครั้งโรคอาจเกิดขึ้นมาได้อีก 
ทั้งนี้ การรักษาโรคนี้โดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การเจ็บปวดต่อเนื่อง การที่เส้นประสาทเล็กๆ บริเวณฝ่าเท้าได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกชาและเหมือนมีเข็มตำที่ส้นเท้า นอกจากนี้การผ่าตัดนำพังผืดออกอาจส่งผลให้ฝ่าเท้าแบนอีกด้วย
 
แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ หากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป  
 

เรียบเรียงโดย นพ.วิทูร บุญถนอมวงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs