bih.button.backtotop.text

โรคชิคุนกุนยา...อีกโรคหนึ่งที่แพร่ระบาดผ่านยุง

“ชิคุนกุนยา” เป็นภาษามากอนดี หมายถึงอาการงอตัว สื่อถึงอาการของโรคชิคุนกุนยาที่มักแสดงออกด้วยอาการปวดข้อจนตัวงอ โรคชิคุนกุนยาเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถติดต่อได้จากยุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปยังทวีปแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อินเดีย และแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ครั้งแรกที่พบเชื้อไวรัสก่อโรคชิคุนกุนยาคือปี พ.ศ. 2556 ซึ่งพบในทวีปอเมริกาที่หมู่เกาะแคริบเบียนและในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว

 

โรคชิคุนกุนยา แตกต่างจากโรคไข้เลือดออกอย่างไร?

อาการ โรคชิคุนกุนยา โรคไข้เลือดออก
อาการแรกเริ่ม ไข้, ปวดข้อ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, ตาแดง, ผื่น   ไข้, ปวดข้อ, ผื่น, ปวดศีรษะ
ลักษณะของการปวดข้อและกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบหลายข้อ โดยจะมีอาการสมมาตรกันทั้งสองข้างและมักเป็นกับบริเวณข้อเล็ก เช่น มือ, เท้า ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงบริเวณหลังส่วนล่าง, แขน และ ขา หากมีอาการปวดข้อมักเป็นที่ข้อเข่าและหัวไหล่
การกระจายของผื่น ผิวหนังแดงโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและลำตัว ผื่นมักพบบริเวณลำตัวและแขน ขา เป็นหลัก อาจพบที่ใบหน้าและฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้บ้างในบางราย ผื่นมักกระจายที่แขน ขา และใบหน้าเป็นหลัก
อาการแทรกซ้อน อาจพบอาการปวดข้อเรื้อรังได้ ไม่ค่อยพบอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท   อาการแทรกซ้อนจะรุนแรงกว่าโรคชิคุนกุนยา อาจพบภาวะช็อก หายใจลำบาก หรือภาวะเลือดออก
 
 

โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?

          โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อได้หลายทางด้วยกัน ได้แก่
  1. ติดต่อผ่านยุงลายสวนและยุงลายบ้านที่มีเชื้อไวรัสนี้จะแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังคนถัดๆ ไปที่ถูกยุงกัด
  2. ติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อไปยังทารกในระยะแรกคลอด
  3. ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การให้หรือรับเลือดที่มีเชื้อไวรัส
ตามทฤษฎีแล้วไวรัสชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านมารดาไปยังทารกและผ่านทางเลือดได้ แต่ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านทั้งสองทางนี้

 

อาการของโรคชิคุนกุนยามีอะไรบ้าง?

ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโดยมากมักมีอาการเกิดขึ้น 3-7 วันหลังจากถูกยุงกัด โดยอาการหลักของโรคชิคุนกุนยาคือมีไข้และปวดบริเวณข้อ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม และมีผื่นแดงขึ้นบริเวณลำตัว โดยทั่วไปมักมีอาการดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ยกเว้นอาการปวดบริเวณข้ออาจมีอาการนานเป็นเดือนได้ และโดยทั่วไปโรคชิคุนกุนยาไม่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเสียชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
 

โรคชิคุนกุนยารักษาได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคชิคุนกุนยา การรักษาโรคชิคุนกุนยาจึงใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
  • นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น  ยาพาราเซตามอล โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน (aspirin) หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDS) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก
  • หากมียาเดิมที่ใช้รักษาโรคร่วม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อติดตามอาการและการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
  • ป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดในสัปดาห์แรกที่ได้รับเชื้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถพบได้ในเลือดและส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อโดยมียุงเป็นพาหะในช่วงเวลาดังกล่าว

 

โรคชิคุนกุนยาป้องกันอย่างไร?

การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การป้องกันการถูกยุงกัด และควรมีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสม่ำเสมอ เช่น บริเวณน้ำที่ยุงอาจไปวางไข่ รวมถึงทำความสะอาดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
การป้องกันสำหรับทารกและเด็ก
  • สวมใส่เสื้อผ้าแก่ทารกและเด็กให้มิดชิด
  • ฉีดสเปรย์กันยุงให้เด็ก ยกเว้นในกรณีที่เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ไม่ควรฉีดสเปรย์กันยุง
  • ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่ประกอบด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส หรือพาราเมนเทนไดออล (para-menthane-diol) ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี
การป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
  • ในกรณีที่เป็นสเปรย์ป้องกันยุงที่ไม่ใช่สำหรับฉีดบริเวณตัว ไม่ควรฉีดสเปรย์ป้องกันยุงให้ถูกผิวหนังโดยตรง
  • หากจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อนแล้วจึงใช้สเปรย์กันยุง
  • ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท หากเป็นไปได้ควรใช้เครื่องปรับอากาศแทนการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ

 


Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399
Email: [email protected]
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs