bih.button.backtotop.text

UV กันได้...ด้วยครีมกันแดด

รังสี UV แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ รังสี UV-A และ UV-B  โดยรังสี UV มีผลต่อผิวหนังทั้งในแง่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น กระตุ้นการสร้างวิตามินดี และกระตุ้นการสร้างเม็ดสีที่ผิว เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด แต่รังสี UV ก็ให้โทษได้เช่นกัน โดยรังสี UV-A สามารถทะลุผ่านผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสติก ทำให้เซลล์ผิวเกิดภาวะแก่ก่อนวัย ส่วนรังสี UV-B เมื่อได้รับเป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังบวมแดง พองและลอกออก เกิดอาการไหม้แดด (sunburn) และเมื่อได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง ก็อาจพัฒนาให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทาผิวก่อนออกแดด เป็นวิธีการหนึ่งในการปกป้องผิวจากรังสี UV ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันแดดจำนวนมากและหลากหลาย ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กันแดด จะทำให้สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องผิวจากรังสี UV  

 

ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวได้อย่างไร?

ในผลิตภัณฑ์กันแดดประกอบด้วยสารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV ได้แก่
  1. สารดูดซับรังสี
  2. สารสะท้อนรังสี

ประเภทของสารสำคัญ

  ดูดซับรังสี สะท้อนรังสี
คุณสมบัติ สารกลุ่มนี้จะ ดูดกลืนรังสี UV ไว้ ทำให้รังสี UV
ไม่สามารถทะลุผ่านเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง
หลังจากนั้นจึงค่อยๆ คายพลังงานออกมาในรูปรังสีที่ไม่เป็นอันตราย
     สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนังแล้ว สะท้อนหรือกระจายรังสี UV
เสมือนเป็นร่มให้กับผิวหนัง
จุดเด่น สามารถป้องกันรังสี UV ได้ดี
เพราะสามารถดูดกลืนรังสีไว้ได้ทั้งหมด
     ไม่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนัง
ทำให้มีโอกาสเกิดการแพ้ได้น้อย
มีความปลอดภัยสูงกว่ากลุ่มดูดซับรังสี
จุดด้อย มีโอกาสเกิดการแพ้ต่อผิวได้มากกว่ากลุ่มสะท้อนรังสี
เนื่องจากโครงสร้างของสารกลุ่มนี้
สามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังและก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
  มีขนาดอนุภาคที่ค่อนข้างใหญ่
เมื่อทาที่ผิว จะเกิดการสะท้อนแสง
ทำให้เกิดปื้นขาวบริเวณที่ทา แลดูไม่เป็นธรรมชาติ
ตัวอย่าง
สารสำคัญ
แอนทรานิเลต (anthranilate),
เบนโซฟีโนน (benzophenone),
ซินนาเมต (cinnamate), ซาลิไซเลต (salicylate)
  ซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide), ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide)
และ แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide)
 

ค่า PFA และ SPF ที่แสดงบนผลิตภัณฑ์กันแดด หมายถึงอะไร ?

ผลิตภัณฑ์กันแดดแต่ละตัวมีความสามารถในการป้องกันแดดได้แตกต่างกัน จึงมีการกำหนดค่าชี้วัดประสิทธิภาพในการป้องกันแดดที่สำคัญและเป็นมาตรฐานสากลไว้ 2 ชนิด ได้แก่ PFA และ SPF

1. PFA (Protection Factor of UV-A) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-A โดยสัญลักษณ์ในการแสดงระดับของประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศ เช่น ดังที่แสดงในตารางด้านล่าง เป็นมาตรฐาน JCIA (Japan Cosmetic Industry Association ค.ศ. 2012) ซึ่งแสดงระดับของประสิทธิภาพ หรือค่า PA ได้ดังนี้
ระดับของประสิทธิภาพ ค่า PFA การแสดงค่า PA
ต่ำ ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4  (2-4) PA+
กลาง ตั้งแต่ 4 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 8  (4-8) PA++
สูง ตั้งแต่ 8 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 16  (8-16) PA+++
สูงมาก ตั้งแต่ 16 ขึ้นไป  (≥16) PA++++


2. SPF (Sun Protection Factor) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-B โดยใช้ตัวเลข แสดงระดับของประสิทธิภาพและความสามารถในการดูดซับรังสี UV-B แต่อย่างไรก็ตามค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-B ได้ไม่แตกต่างกัน

ระดับของประสิทธิภาพ ค่า SPF การแสดงค่า PA
ต่ำ ตั้งแต่ 6 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 15  (6-15)

แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ

หรือ เป็น SPF ตามจริง
กลาง ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 30  (15-30)

แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ

หรือ เป็น SPF ตามจริง
สูง ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 50  (30-50)

แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ

หรือ เป็น SPF ตามจริง
สูงมาก ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป (≥50)

แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ

หรือ เป็น SPF 50 +
 

ผลิตภัณฑ์กันแดดมีรูปแบบใดบ้าง ?

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันแดดหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ รูปแบบอิมัลชัน เจล สเปรย์หรือแอโรซอล แต่ละรูปแบบต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้

รูปแบบผลิตภัณฑ์ ข้อดี ข้อเสีย

อิมัลชัน

เช่น ครีม โลชั่น
มีความสามารถในการกระจายตัวบนผิว
เคลือบและยึดติดผิวได้ดี
ทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเหนอะหนะได้
เจล มีจุดเด่นในเรื่องความสวยงามของเนื้อผลิตภัณฑ์ ใส และน่าใช้ ถูกชะออกโดยน้ำหรือเหงื่อได้ง่าย
ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการกันแดดไป

แอโรซอล

ผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่น หรือสเปรย์
ใช้กับผิวหนังบริเวณกว้างได้ง่าย มักเกิดฟิล์มที่ไม่ต่อเนื่อง
ทำให้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV ลดลง

 

ครีมกันแดด กันน้ำหรือไม่ ?

ผลิตภัณฑ์กันแดดบางชนิด ระบุคุณลักษณะพิเศษในการกันน้ำ (water resistance) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
  1. Water resistance product คือ  ผลิตภัณฑ์ที่สามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 40 นาที
  2. Very water resistance product คือ ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงสามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 80 นาที

 

ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างไร ?

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น
  • ความสามารถในการป้องกันรังสี UV: ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งค่า SPF และ PFA กล่าวคือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UV-B และ UV-A แต่หากต้องการอาบแดด เพื่อทำให้สีผิวเป็นสีแทน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันเฉพาะรังสี UV-B จะช่วยป้องกันอาการไหม้แดด แต่ไม่ป้องกันรังสี UV-A (ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า PFA น้อยๆ) จึงทำให้รังสี UV-A ผ่านผิวหนังและกระตุ้นการสร้างเมลานินได้ โดยคุณสมบัติดังกล่าวสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดผิวสีแทน (sun-tanning products)
  • รูปแบบของผลิตภัณฑ์: หากต้องไปทำกิจกรรมทางน้ำ ไม่ควรเลือกรูปแบบเจล หรือถ้าต้องการทาผิวเป็นบริเวณกว้าง เช่น ลำตัว แขน ขา อาจพิจารณาเลือกรูปแบบอิมัลชัน เนื่องจากเป็นรูปแบบที่กระจายตัวบนผิวได้ดี ทนต่อการชะล้างของเหงื่อได้ดีมากกว่ารูปแบบเจล และมีความสามารถในการเคลือบและยึดติดผิวได้ดี
  • อายุ: ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย หากเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน อาจลองให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเคลือบผิว เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้น้อย และที่สำคัญควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์
  • กิจกรรมที่ทำ: เลือกค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป สำหรับการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมที่อยู่แต่ภายในอาคาร ส่วนค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหากเป็นการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางน้ำ ก็เหมาะสำหรับการใช้ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และมีความสามารถในการกันน้ำ

 

วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด

  1. ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน แต่หากต้องการให้ได้ผลในการป้องกันผิวจากแสงแดดมากที่สุด แนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์กันแดดทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออก หรือหลังจากว่ายน้ำ หรือเช็ดตัว
  2. ควรทาให้เป็นฟิล์มสม่ำเสมอและปกคลุมทั่วผิว แต่ไม่ต้องถูนวด
  3. ทาผลิตภัณฑ์กันแดดในปริมาณที่เหมาะสมกับบริเวณของร่างกายที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น จมูก ใบหู โหนกแก้ม เป็นบริเวณที่สัมผัสแสงแดดได้มากกว่าบริเวณอื่น จึงอาจต้องทาผลิตภัณฑ์กันแดด ปริมาณมากกว่าบริเวณอื่น เป็นต้น
  4. หลีกเลี่ยงบริเวณรอบดวงตาหรือเนื้อเยื่ออ่อน เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ง่าย
  5. ควรทาก่อนออกแดดประมาณ 20 – 30 นาที เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลาในการจัดเรียงตัวและปกคลุมผิวหนัง

 

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Latha M S, Martis J, Shobha V, Shinde R S, Bangera S, Krishnankutty B et al. Sunscreening Agents A Review. J Clin Aesthet Dermatol 2013;6(1):16–26.
  2. Terry Slevin. How does sunscreen work? [internet]. January 19, 2018 [cited 2019 September 7]. Available from: https://www.cancercouncil.com.au/blog/how-does-sunscreen-work/

 

ประกาศคณะกรรมการเครื่องสําอาง เรื่อง การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด ของเครื่องสําอางที่มีสารป้องกันแสงแดด พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ 4 กันยายน 2560. ราชกิจจานุเบกษา [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 19 ก.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก http://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared%20Documents/Laws/8%20คำเตือนที่ฉลากเครื่องสำอาง/8_5%20การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด.pdf




Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs