เปิดประสบการณ์ใหม่กับการผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่อวัยวะหรือบางส่วนของอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้เล็ก ยื่นออกจากช่องท้องผ่านทางกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อผนังหน้าท้องที่อ่อนแอหรือมีรูเปิดผิดปกติไปยังตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่เหนือสะดือลงมาจนถึงใต้ขาหนีบ ผู้ป่วยไส้เลื่อนจะมีก้อนนูนออกมาสามารถคลำพบได้โดยง่าย
วิธีหลักในการรักษาโรคไส้เลื่อนคือการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดด้วยระบบดาวินชี ซึ่งการผ่าตัดแบบแผลเล็กเป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก การเจ็บแผลหลังผ่าตัดจะน้อยกว่า และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดจะเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วย
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดระบบดาวินชี อาจมีข้อดีเหนือกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้องคือ ศัลยแพทย์มองเห็นภาพอวัยวะภายในได้ชัดเจนกว่า และสามารถควบคุมเครื่องมือผ่าตัดให้เคลื่อนไหวได้ทุกทิศทาง ทำให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น
ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อนอย่างไรบ้าง
เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และเป็นการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัดลง แพทย์จะประเมินสภาพและความพร้อมของผู้ป่วยโดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงนำข้อมูลมาประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัด และการให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งผู้ป่วยและญาติจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการให้ยาระงับความรู้สึก ขั้นตอนการผ่าตัด การดูแลหลังผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเป็นการเตรียมสภาพร่างกายผู้ป่วย การให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และการให้ยาต้านจุลชีพเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อนมีอะไรบ้าง
หลังจากได้รับยาระงับความรู้สึกและใส่ท่อช่วยหายใจโดยวิสัญญีแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงาย แขนกลหุ่นยนต์ที่อยู่ด้านข้างเตียงผู้ป่วยจะทำหน้าที่สอดใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กๆ 3 ตำแหน่งบริเวณผนังหน้าท้อง ขณะผ่าตัดศัลยแพทย์จะใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้องเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการผ่าตัดและทำให้มองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนขึ้น
ศัลยแพทย์จะนั่งประจำในส่วนควบคุมสั่งการ (console) ในห้องผ่าตัด และทำการผ่าตัดผ่านจอภาพที่แสดงให้เห็นอวัยวะภายในแบบ 3 มิติจากกล้องที่มีความคมชัดและกำลังขยายสูงในช่องท้องของผู้ป่วย ขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์จะถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์จากมือ ข้อมือ และนิ้วของแพทย์ไปยังเครื่องมือผ่าตัดที่ติดอยู่กับแขนกลหุ่นยนต์ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้องแล้วใช้วัสดุสังเคราะห์คล้ายตาข่าย (surgical mesh) เย็บตรึงเข้ากับผนังหน้าท้องด้วยไหมขนาดเล็ก จากนั้นจึงนำเครื่องมือผ่าตัดและกล้องออกจากร่างกายแล้วจึงเย็บปิดแผล การผ่าตัดใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง
เรียบเรียงโดย
นพ. พุชฌงค์ ทิมรัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เรื่องจริงของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมือของแพทย์และมือของหุ่นยนต์
รับชมวีดีโอเพิ่มเติม คลิก
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: