bih.button.backtotop.text

ถาม-ตอบ ปัญหาสุขภาพ

18 มกราคม 2559
Better Health ฉบับนี้มาพร้อมกับคำถามที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของระดับคอเลสเตอรอลกับการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ น้ำหนักกับมวลกระดูก และอายุกับการผ่าตัดทำบายพาส โดยได้รับความอนุเคราะห์คำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ และอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของคุณ

Q: การลดน้ำหนักมีผลต่อความหนาแน่นของกระดูกหรือไม่ ถ้ามี ควรหลีกเลี่ยงอย่างไร ?

A: การลดน้ำหนักมีผลทำให้กระดูกบางลงจริง แต่ขึ้นอยู่กับว่าลดน้ำหนักแบบไหน ถ้าลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกาย ผลดีที่ได้กลับมาจะชดเชยกระดูกที่บางลงได้ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เช่น เดินเร็ว หรือวิ่ง จะช่วยสร้างมวลกระดูกและทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ถึงแม้กระดูกจะบางลงเล็กน้อยแต่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวที่ลดลง กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ปัญหาปวดเข่า ปวดหลังดีขึ้น หมอแนะนำว่าควรลดน้ำหนัก

แต่ถ้าลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร เมื่อน้ำหนักลดลงร่างกายก็รับแรงกดลดลง กระดูกก็จะบางลงไปด้วยซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีไม่มีผลทำให้กระดูกบางมากนัก และควรลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายดีกว่าปล่อยให้อ้วนเพราะกลัวกระดูกบาง

นพ.สำเริง เนติ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
 

Q: คุณตาอายุ 87 ปีเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและมีอาการเจ็บหน้าอกมาก แต่ยังไม่กล้าผ่าตัดเพราะอายุมากแล้ว อยากทราบว่าการผ่าตัดผู้ป่วยอายุมากมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนครับ

A: กรณีโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจัยเสี่ยงของการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ (coronary bypass surgery) มีหลายอย่าง จริงอยู่ว่าเมื่ออายุมากขึ้น อัตราเสี่ยงของการผ่าตัดทุกชนิดก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่และมากน้อยเพียงใด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เคยมีภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวมาก่อนหรือไม่ เคยมีการใช้ยาบางตัว เช่น กลุ่มสเตียรอยด์หรือไม่ มีภาวะโรคติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดจากการสูบบุหรี่หรือโรคถุงลมโป่งพองหรือไม่ หรือถ้าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ก่อนผ่าตัดย่อมมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ภาวะการทำงานของไตถ้าไม่สมบูรณ์หรือยิ่งถ้ามีโรคไตวายเรื้อรัง จนต้องล้างไตก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อระยะเวลาการฟื้นตัวหลังผ่าตัดยากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนั้น ลักษณะกายวิภาคของเส้นเลือดเองก็มีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้การผ่าตัดยากหรือง่ายไม่เท่ากัน เช่น ถ้าเส้นเลือดขรุขระตีบไปทั้งเส้นและมีขนาดเล็ก การผ่าตัดต่อเส้นเลือดก็ยากขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอายุของผู้ป่วยเป็นเพียงส่วนประกอบเดียวในส่วนประกอบอื่นๆ อีกมากมายที่จะเป็นตัวกำหนดปัจจัยเสี่ยงของการผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

อายุที่เคยทำผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้ผลดีมาก คือ ผู้ป่วยชายอายุ 86 ปี ที่นอกจากเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบแล้ว ไม่มีโรคอื่นๆ เลย การทำงานของตับไตปกติ ไม่มีโรคเบาหวาน ไม่สูบบุหรี่ไม่มีโรคปอด ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่ำ ฟื้นตัวจากการผ่าตัดเร็ว ปัจจุบันผู้ป่วยอายุเกินร้อยปีแล้ว

พญ.ธัญลักษณ์ ชัยเสรี อายุรแพทย์โรคหัวใจ
 

Q: ญาติของดิฉันมีระดับคอเลสเตอรอลแค่ 155 แต่ปรากฏว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน โดยหลอดเลือดหัวใจอุดตันถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นคะ ?

A: แน่นอนว่าระดับคอเลสเตอรอลมากเกินไปเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน แต่นอกเหนือจากคอเลสเตอรอลแล้วก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น เป็นโรคเบาหวาน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะที่เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ สูบบุหรี่ มีภาวะเครียด เป็นต้น เพราะฉะนั้นอย่านอนใจว่ามีระดับคอเลสเตอรอลปกติแล้วจะไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

อย่างไรก็ตาม หากต้องการทราบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์จำเป็นต้องสอบประวัติผู้ป่วยตรวจร่างกายโดยละเอียดร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะสามารถบอกได้

นพ.พิษณุ เกิดสินธ์ชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs