bih.button.backtotop.text

ถาม-ตอบ สุขภาพผู้สูงอายุ

วัยสูงอายุเป็นวัยที่มาพร้อมกับความเปราะบางทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ผู้ดูแลจึงไม่เพียงต้องดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลความรู้สึกไปพร้อมกันด้วย สำหรับปัญหาระหว่างการดูแลนั้น คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยคุณได้

Q: บางครั้งการดูแลผู้สูงอายุควบคู่ไปกับภาระหน้าที่อื่นๆ ก็ทำให้เครียดเหมือนกันค่ะ พอรู้สึกเครียดและเป็นทุกข์ขึ้นมา จะรับมืออย่างไรคะ

A: การดูแลผู้สูงอายุนอกเหนือจากภาระหน้าที่อื่นๆ อาจก่อให้เกิดความกดดันทางอารมณ์อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากผู้ให้การดูแลก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน ลองวิธีการดังต่อไปนี้

  • สลับให้คนอื่นมาช่วยบ้าง อย่าพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว
  • ให้เวลาตัวเองได้พักและผ่อนคลาย โดยอาจจัดเวลาให้ตัวเองสักครึ่งชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบ
  • ยอมความเป็นจริงว่าคนเรามีขีดจำกัด การหาเวลาให้ตัวเองบ้างไม่ได้ทำให้คุณกลายเป็นคนแย่ลง ตรงกันข้าม หากคุณไม่ดูแลตัวเอง คุณจะแย่ลงแน่นอนและส่งผลต่อการดูแลคนที่คุณรักด้วย
  • เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง หลายครั้งที่คุณอดไม่ได้ที่จะรู้สึกแย่กับสถานการณ์ที่รุมเร้า อย่าลืมว่าคุณควบคุมทุกอย่างไม่ได้ทั้งหมด ปรับมุมมองตัวเองไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณพอจะทำได้จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นมากกว่า
  • รักษาสุขภาพของคุณเองให้ดีโดยการหมั่นไปพบแพทย์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

Q: คุณป้าอายุย่างเข้า 70 ปี ข้อมือมีปัญหาและต้องนั่งรถเข็นด้วย อยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบประตูและตู้ใส่สิ่งของให้เหมาะสมและสะดวกสำหรับคุณป้าครับ

A: สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการใช้มือนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้มือควบคุม เช่น ลูกบิดประตู ที่เปิดตู้ ก๊อกน้ำ เหล่านี้ควรเลือกที่ใช้งานง่ายและออกแรงน้อย อาจเป็นก้านใช้ปัดหรือก้านโยกแทนที่เปิดที่เป็นลักษณะที่ต้องใช้มือหมุน ส่วนการออกแบบประตูสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นนั้น ประตูจะต้องมีความกว้างพอให้รถเข็นผ่านได้อย่างสบาย คืออย่างน้อย 90 ซม. หากเป็นประตูบานเลื่อนได้จะเหมาะสมมาก และนั่นหมายความว่า วงกบประตูจะต้องมากกว่านั้นคือประมาณ 1 เมตร และพื้นทางเข้าประตูควรเรียบเสมอกัน ไม่มีขั้นหรือธรณีประตูกีดขวางทางของล้อรถเข็น ส่วนตู้เก็บของที่ตั้งพื้นควรมีช่องเว้าเข้าไปจากพื้น เพื่อเวลาเข็นรถเข็นมาประชิดขอบตู้จะได้ไม่ชนเท้าของผู้ที่นั่งบนรถเข็น และในตู้ควรเป็นลักษณะลิ้นชักดึงออกมาแทนแบบที่เป็นชั้นๆ จะสะดวกต่อผู้ใช้งานรถเข็นมากกว่า

Q: ดิฉันจะช่วยคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร เมื่อท่านคอยแต่ปฏิเสธความช่วยเหลือ

A: การจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ ต้องอาศัยความเข้าใจ ขอให้เข้าใจว่าภาวะซึมเศร้านั้นต้องได้รับการรักษา แต่การจะพาผู้ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้าไปพบแพทย์ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเนื่องด้วยอาการของโรคทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสิ้นหวังและคิดว่าการรักษาก็คงจะไม่ช่วยอะไร บทบาทของคุณและคนในครอบครัวที่คอยช่วยสนับสนุนและประคับประคองผู้ป่วยทางอารมณ์จึงมีความสำคัญมาก ลองทำตามคำแนะนำดังนี้
 

  • อย่าพยายาม “แก้ไข” ผู้ป่วย แต่ให้เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ อดทน และห่วงใย
  • ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจโดยไม่แสดงท่าทีรำคาญ
  • มองโลกในแง่ดีเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเห็นว่ายังมีความหวัง
  • ชวนผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัว หรือทำงานอดิเรกที่ผู้ป่วยชอบโดยไม่กดดัน
  • อย่าคาดหวังว่าความพยายามช่วยเหลือของคุณจะส่งผลได้ทันใจ


เมื่อผู้ป่วยเกิดความผ่อนคลายเมื่ออยู่กับคุณ ลองชักชวนผู้ป่วยไปพบแพทย์ประจำตัวเพื่อตรวจร่างกายตามปกติ และอาจให้แพทย์ส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทางโดยมีคุณอยู่ข้างๆ เชื่อว่าความอดทนและเอาใจใส่ของคุณต้องช่วยคุณแม่ให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs