bih.button.backtotop.text

ภาวะมีบุตรยาก สาเหตุและการรักษา

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเป้าหมายไม่ใช่เพียงช่วยให้การตั้งครรภ์สำเร็จเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้กำเนิดทารกที่แข็งแรงสมบูรณ์อีกด้วย
 
ภาวะมีบุตรยาก เป็นปัญหาทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่ามีคู่สมรสถึงร้อยละ 20 ที่เข้าข่ายคำจำกัดความของผู้มีบุตรยากเนื่องจากไม่สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติแม้จะอยู่ร่วมกันมาแล้ว 1 ปีโดยไม่มีการคุมกำเนิด Better Health ฉบับนี้พูดคุยกับทีมสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ถึงสาเหตุของการมีบุตรยาก และเทคโนโลยีล่าสุดที่จะช่วยให้การตั้งครรภ์คุณภาพไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

สาเหตุและการรักษา

สาเหตุของการมีบุตรยากนั้น จากศูนย์การเจริญพันธุ์อธิบายว่าเกิดได้ทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยแยกได้ตามองค์ประกอบของการตั้งครรภ์ซึ่งประกอบด้วยอสุจิ ไข่ และมดลูก เช่น เชื้ออสุจิน้อย ไม่แข็งแรง ทั้งอสุจิและไข่เสื่อมคุณภาพเนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น และฝ่ายหญิงมีเนื้องอกบริเวณมดลูกซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 20-30 ในผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาตามสาเหตุเพื่อให้การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเป็นไปได้มากที่สุด อาทิ ให้ยากระตุ้นการทำงานของลูกอัณฑะ หาความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่และพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูก เป็นต้น

เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม แม้จะรักษาตามสาเหตุแล้ว คู่สมรสบางคู่ก็ยังไม่สามารถมีบุตรได้ และต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันมี 2 วิธีหลัก ได้แก่

  • การช่วยให้ปฏิสนธิในร่างกาย หรือการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI: intrauterine insemination) ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ไข่ตกแล้วนำ น้ำเชื้ออสุจิที่คัดแล้วฉีดเข้าไปผสมกับไข่ในร่างกายของฝ่ายหญิง
  • การช่วยให้ปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF: in vitro fertilization) โดยการนำไข่ของฝ่ายหญิงออกมาผสมกับตัวอสุจิของ ฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงเพาะเลี้ยงตัวอ่อน อีก 3-5 วันจนกระทั่งตัวอ่อนแบ่งเซลล์ แล้วจึงพิจารณาเลือกตัวอ่อน ที่สมบูรณ์ที่สุดใส่กลับเข้าในโพรงมดลูก เพื่อให้ฝังตัวและเติบโตเป็นทารก ในครรภ์ต่อไป

“IUI เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหามากนัก ขณะที่ IVF ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากได้ครอบคลุมเกือบทุกสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นไข่ไม่ตก ท่อนำไข่อุดตัน มีพังผืด หรือเชื้ออสุจิมีความผิดปกติ การรักษาด้วยวิธี IVF จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ใช้เทคนิค IUI เพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น” นพ.พูลศักดิ์ กล่าว

สำหรับอัตราความสำเร็จของ IVF นั้นพบว่า ยิ่งผู้หญิงมีอายุน้อยก็ยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น

 
“เป้าหมายของการรักษาผู้มีบุตรยากคือการตั้งครรภ์เดี่ยว ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ทารกไม่มีโรคทางพันธุกรรม และแม่ มีความสุขตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์” 
นพ.พูลศักดิ์ ไวความดี 

 

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อาจเกิดได้จากผลข้างเคียงของยา จากภาวะที่รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป และจากการตอบสนองต่อยามากเกินไป ทำให้มีจำนวนไข่ตกเกินความต้องการส่งผลให้เกิดภาวะขาดโปรตีนฉับพลันตามมา นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของแม่และทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาวะแทรกซ้อนจากผลข้างเคียงของยาเริ่มพบได้น้อยลง เนื่องจากองค์ความรู้ของแพทย์ที่มากขึ้น ส่วนภาวะครรภ์แฝดนั้นสามารถลดลงได้ด้วยการทำ IVF ร่วมกับการคัดเลือกตัวอ่อน “ในอดีตเราบอกไม่ได้ว่าตัวอ่อนไหนที่สมบูรณ์จริงๆ จึงต้องสุ่มใส่เข้าไปหลายตัวซึ่งทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝด แต่การคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดเพียงตัวเดียว จะทำให้โอกาสตั้งครรภ์แฝดกลายเป็นศูนย์”

สองเทคโนโลยีเพื่อการคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์

จากการศึกษา แพทย์พบว่าตัวอ่อนที่สมบูรณ์ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้มากถึงร้อยละ 70 แต่ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมในห้องทดลองกลับมีความปกติอยู่เพียงร้อยละ 30 โดยประมาณ ดังนั้นการคัดเลือกตัวอ่อนจึงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ปัจจุบันการคัดเลือกตัวอ่อนสามารถทำได้สองแนวทางคือ เลือกจากพัฒนาการของตัวอ่อนโดยหาตัวอ่อนที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุดผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า embryoscope และเลือกจากการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมเพื่อ หาตัวอ่อนที่ปกติ และคัดกรองตัวอ่อนที่มีโครโมโซมผิดปกติออกไป “เป้าหมายสูงสุดของการรักษาผู้มีบุตรยากจากนี้ไปคือ การตั้งครรภ์เดี่ยว ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ทารกสมบูรณ์ไม่มีโรคทางพันธุกรรม และแม่มีความสุข หมดกังวลได้ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์” นพ.พูลศักดิ์ กล่าว

ติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนด้วย embryoscope

ในส่วนของ embryoscope นั้น พญ.ณหทัย ภัคธินันท์ สูตินรีแพทย์อธิบายว่า เป็นการเก็บข้อมูลของตัวอ่อน โดยการตรวจผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยตู้อบพร้อมกล้องที่สามารถบันทึกภาพตัวอ่อนทุก 15 - 20 นาทีจากหลายมุมมอง เพื่อให้แพทย์ดูพัฒนาการได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องรบกวนตัวอ่อน

“ที่ผ่านมาเรานำตัวอ่อนจากตู้อบออกมาตรวจดูคุณภาพและการแบ่งตัววันละ 1 ครั้ง ซึ่งแสงสว่าง สารเคมี อุณหภูมิ และความชื้นอาจส่งผลกับตัวอ่อนได้ นอกจากนี้ อาจมีบางขั้นตอนของการแบ่งตัวที่เรามองไม่เห็นจากการตรวจเพียงวันละครั้ง เช่น การแบ่งตัวที่ไม่สมดุล หรือแบ่งแล้วมีเศษของเซลล์ที่เป็นส่วนที่ไม่ดีแต่ตัวอ่อนดูด กลับเข้าไป” พญ.ณหทัย อธิบาย ทั้งนี้ ข้อมูลจาก embryoscope จะช่วยให้แพทย์ประเมินคุณภาพตัวอ่อนได้จากลักษณะและระยะเวลาที่ใช้ในการแบ่งตัวเพื่อเลือกย้ายเฉพาะตัวอ่อนที่มีแนวโน้มจะฝังตัวมากที่สุด ซึ่งนอกจากจะลดโอกาสตั้งครรภ์แฝดแล้วยังช่วยเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้อีกร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับการนำตัวอ่อนออกมาตรวจนอกตู้อบ

เพิ่มความมั่นใจด้วยการตรวจโครโมโซม

สำหรับการคัดเลือกตัวอ่อนโดยการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คัดเลือกตัวอ่อนที่ปกติเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ซึ่งเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะยิ่งผู้หญิงมีลูกช้าก็ยิ่งทำให้ตัวอ่อนมีความผิดปกติโดยแพทย์พบว่าตัวอ่อนของแม่ที่อายุมาก มีโครโมโซมที่ผิดปกติถึงร้อยละ 50-80 ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวและมีโอกาสแท้งสูง ซึ่งเรื่องนี้ รศ.นพ.ชาติชัย ศรีสมบัติ สูตินรีแพทย์ อธิบายว่าเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่สามารถตรวจโครโมโซมได้เพียง 5-12 คู่ และต้องใช้คนวินิจฉัยทำให้มีปัญหาเรื่องของความแม่นยำ


แต่ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจโครโมโซมได้ครบทั้งหมด 23 คู่ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า CGH (comparative genomic hybridization) ซึ่งทำได้โดยการนำเซลล์บางส่วนของตัวอ่อนที่มีการแบ่งตัวมากพอไปตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างปริมาณดีเอ็นเอของเซลล์ที่ต้องการตรวจกับดีเอ็นเอปกติ ซึ่งจะช่วยให้คัดกรองโรคทางพันธุกรรมต่างๆ ได้กว้างขวาง และแม่นยำมากขึ้น “เราพบว่าตัวอ่อนที่ดูปกติอาจมีโครโมโซมผิดปกติได้ถึงร้อยละ 40 หรือแม้แต่ตัวอ่อนที่เลี้ยงจนถึงระยะ blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่โตเต็มที่ก่อนการฝังตัวก็ยังมีความผิดปกติทางโครโมโซมได้ประมาณร้อยละ 9 ทำให้การตั้งครรภ์ไม่ประสบความสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ชาติชัย อธิบายว่า การทำ CGH นั้นต้องมีข้อบ่งชี้ เช่น มีปัญหาตัวอ่อนไม่ฝังตัว มีการแท้งบ่อย หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรม ส่วนแม่ที่อายุมากนั้นอาจไม่จำเป็นต้องทำ CGH ทุกรายโดยแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป

“จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำ IVF โดยตรวจ CGH ร่วมด้วยมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ตรวจสูงถึง 3 เท่าโดยประมาณ และ CGH ช่วยลดโอกาสแท้งอันเนื่องมาจากโครโมโซมผิดปกติได้ถึงครึ่งหนึ่ง” ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมจึงช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยากมั่นใจได้มากขึ้นว่า เมื่อตั้งครรภ์แล้วจะให้กำเนิดทารกที่แข็งแรงสมบูรณ์ต่อไป
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs