bih.button.backtotop.text

Q & A โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization)  ระบุว่าทุก ๆ 6 วินาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองหนึ่งคน การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมองโดยการลดปัจจัยเสี่ยง เฝ้าระวังอาการเตือน และรับมืออย่างถูกต้องทันท่วงทีจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ลดภาวะพิการ และลดภาวะแทรกซ้อนของโรคลงไปได้มาก แพทย์หญิงเกศริน พาณิชย์พิศาล อายุรแพทย์ระบบประสาท อาสามาช่วยตอบข้อสงสัยของคุณเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองในฉบับนี้
 

Q: คุณหมอคะ ดิฉันมีอาการแปลก ๆ คือแขนขาชาไปครึ่งซีก มึนศีรษะ ตามืดไปสักพักแต่แล้วก็กลับเป็นปกติเหมือนเดิม ดิฉันควรกังวลไหมคะและยังจำเป็นต้องไปพบแพทย์อีกหรือเปล่าคะ?



A: จากอาการที่กล่าวมา มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack) การไปพบแพทย์จึงยังเป็นเรื่องจำเป็นแม้อาการจะหายไป ทั้งนี้เนื่องจากอาการดังกล่าวจัดเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่ต้องเอาใจใส่ เพราะจากข้อมูล ผู้ป่วยจำนวนถึง 1 ใน 3 ที่ประสบภาวะดังกล่าวจะมีอาการสมองขาดเลือดตามมาในระยะเวลาหนึ่งปี อย่านิ่งนอนใจคิดว่าไม่มีอาการแล้วก็ไม่น่าเป็นอะไร ขอให้คิดว่าสัญญาณเตือนหมายถึงโอกาส เพราะเมื่อคุณได้รับสัญญาณเตือน หมายความว่าคุณอาจป้องกันตนเองจากภาวะสมองขาดเลือดฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้
 

Q: ผมเคยอ่านเจอว่าถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เบื้องต้นควรให้รับประทานยาแอสไพรินก่อนแล้วรีบพาส่งโรงพยาบาล เรื่องนี้ถูกต้องไหมครับ?



A: การให้ยาแอสไพรินแก่ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันต้องกระทำอย่างระมัดระวังและควรเป็นวิจารณญาณของแพทย์ เพราะอาการของโรคหลอดเลือดสมองนั้นเกิดได้จากทั้งหลอดเลือดสมองอุดตันและหลอดเลือดสมองแตกซึ่งมีวิธีการในการรักษาแตกต่างกันไป

เนื่องจากแอสไพรินมีคุณสมบัติในการต้านเกล็ดเลือดส่งผลให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น การให้ยาแอสไพรินอาจเป็นผลดีในกรณีหลอดเลือดสมองอุดตัน แต่สำหรับกรณีหลอดเลือดสมองแตก การให้ยาแอสไพรินอาจส่งผลให้เลือดออกในสมองมากกว่าเดิม กลายเป็นสร้างความเสียหายได้มากขึ้น ทางที่ดีเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการของหลอดเลือดสมอง ควรรีบพาผู้ป่วยส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือเรียกใช้บริการรถพยาบาล เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานหลายแห่งสามารถเริ่มต้นให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างถูกต้องได้ทันที 
 

Q: เมื่อมีอาการสมองขาดเลือด ตามปกติจะใช้เวลารักษามากน้อยเพียงไร และจะกลับมาเป็นปกติได้ไหมคะ?



A: เมื่อผู้ป่วยประสบกับภาวะสมองขาดเลือดแล้ว การรักษาจะเป็นอย่างไร จะใช้เวลานานเท่าไร อีกทั้งระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยจะมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดกับสมองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
 
ด้วยเหตุผลนี้เอง การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่มีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้ป่วย เพราะเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลและได้รับความช่วยเหลือโดยไม่รอช้า สมองมีความเสียหายน้อย ดังนั้นผู้ป่วยก็ฟื้นตัวได้เร็ว หากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือช้า สมองได้รับความเสียหายมาก แม้ในที่สุดแพทย์ห้ามเลือดหรือเปิดหลอดเลือดได้ แต่ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูตนเองนานนับปี หรือบางรายอาจกลายเป็นผู้ทุพพลภาพถาวรไปเลยก็เป็นได้
 
หากคุณมีข้อสงสัยเรื่องสุขภาพ ส่งคำถามของคุณมาที่: บรรณาธิการนิตยสาร Better Health ฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 33 สุขุมวิท ซอย 3 กรุงเทพฯ 10110
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs