bih.button.backtotop.text

เมื่อสมองเสื่อม...เราจะทำอะไรได้บ้าง

ความเสื่อมของสมองเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่อาจย้อนคืน แต่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่เปี่ยมสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ป่วยหายออกไปจากบ้าน หรือได้ยินประกาศตามหาญาติของผู้สูงอายุที่เดินหลงทางอยู่ตามถนนหาทางกลับบ้านไม่ถูก อันที่จริงแล้วเรื่องราวของโรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์นั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก Better Health ฉบับนี้ จึงไปคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเก็บข้อมูลมาฝากคุณ    

สมองเสื่อม = อัลไซเมอร์?

  • มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่า โรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการสมองเสื่อม นายแพทย์อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา ที่มีความสนใจพิเศษเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ อธิบายว่า “ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่น ๆ โดยที่ความเสื่อมถอยจะดำเนินอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งอาจใช้เวลานับ 10 ปี กว่าที่ความผิดปกติจะปรากฏชัดเจนจนสังเกตได้”
     
  • สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม
  • เริ่มการวินิจฉัย
  • แนวทางการรักษา
“ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่น ๆ” 

นพ. อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ 

กลุ่มอาการสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) จะจำแนกตามตำแหน่งของสมองที่เกิดความผิดปกติ อย่างเช่นสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์นั้นจะเป็นความเสื่อมถอยของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลต่าง ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลายลง อาการที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับความจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำระยะสั้นซึ่งเป็นอาการที่นำมาก่อนอาการอื่น ๆ
  • เราจะทราบได้อย่างไรว่าปัญหาความจำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะโรคอัลไซเมอร์” นายแพทย์อิทธิพลกล่าว “ขอให้พิจารณาว่าอาการดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไป อาการที่ตามมาคือ ความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive Impairment) เช่น มีปัญหาด้านการใช้ภาษา เลือกใช้คำพูดไม่ค่อยถูก สับสนเรื่องทิศทาง สิ่งที่เคยทำเป็นกิจวัตรก็เริ่มทำไม่เป็น ไม่รู้เวลาและสถานที่ ไม่สามารถตัดสินใจได้ ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เป็นเป็นนามธรรม และมีการวางของผิดที่แปลก ๆ บางรายมีความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เป็นต้น”

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

  • ได้แก่ เรื่องของอายุและพันธุกรรม จำนวนผู้ป่วยที่พบว่าเป็นโรคสมองเสื่อมนั้นเพิ่มมากขึ้นทุกปี ๆ โดยผู้ป่วยในวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราการป่วยสูงถึงร้อยละ 5 - 8 และยิ่งทวีสูงขึ้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ในผู้ที่อายุ 90 ปีขึ้นไป พบอัตราการเกิดโรคสูงถึงร้อยละ 50
     
  • ภาวะสมองเสื่อมแบ่งได้เป็นสองประเภท ได้แก่ โรคสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดได้ และโรคสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันออกไป” นายแพทย์อิทธิพลกล่าว “ภาวะสมองเสื่อมชนิดที่รักษาได้นั้น ส่วนมากมักมาจากโรคทางกายซึ่งหลายครั้งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่น กลุ่มที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตัน (Vascular dementia) ซึ่งมีสาเหตุจากความดันไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และดูแลร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย อาการคล้ายโรคสมองเสื่อมก็จะดีขึ้นหรือหายไป”
     
ส่วนภาวะสมองเสื่อมอีกแบบที่ไม่สามารถรักษาได้ มักเกิดจากพยาธิสภาพบางประการในสมอง “มีทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าความผิดปกติของสมองดังกล่าว เกิดจากการก่อตัวอย่างผิดปกติของโปรตีนอะไมลอยด์ในเนื้อสมองซึ่งในสมองคนสูงอายุทั่วไป สามารถพบโปรตีนดังกล่าวได้ แต่จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์” นายแพทย์อิทธิพลกล่าว 

เริ่มการวินิจฉัย

ในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม แพทย์จะมีการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง
  • ในการซักประวัติ ความเห็นหรือมุมมองของผู้ดูแลมีความสำคัญมาก หากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นไม่สามารถรับรู้ถึงความเจ็บป่วยของตนเอง อย่างไรก็ตาม มีบ้างบางครั้งที่ครอบครัวอาจไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติ ด้านความจำจึงไม่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำแก่แพทย์ได้ ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลบางส่วนแล้ว แพทย์ก็จะเริ่มการทดสอบทางสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น ให้ทำแบบทดสอบกระดาษหน้าเดียวที่มีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ทักษะสมอง คิดเลข จากนั้นตรวจคัดกรองหาสาเหตุของโรคที่รักษาได้”
     
นอกเหนือจากนี้ แพทย์ก็จะตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสมองเอง หรือจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ไขมัน ภาวะพร่องสารอาหาร จากนั้นก็รักษาผู้ป่วยตามสาเหตุที่เป็นก่อน 

“ในการรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของสมองเองนั้น แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายแอซิติลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ"

พญ. สสิธร ศิริโท”


แนวทางการรักษา

สำหรับการรักษา แพทย์หญิงสสิธร ศิริโท ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาอธิบายว่า “เมื่อผ่านขั้นตอนการวินิจฉัยจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนพอจะเริ่มการรักษาให้ตรงกับอาการแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณารูปแบบการรักษาให้กับผู้ป่วย ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ คือ การรักษาด้วยการใช้ยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา”

เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมนั้น มีทั้งที่เกิดจากสาเหตุที่รักษาได้และรักษาไม่ได้ หากวิเคราะห์แล้วว่าเกิดจากสาเหตุที่รักษาได้ ก็จะวินิจฉัยหาโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและจะเริ่มการรักษาตามโรคที่ผู้ป่วยเป็น แต่ถ้าสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของสมองเอง (Neurodegenerative) แพทย์ก็จะพิจารณารักษาอาการตามระดับความรุนแรง “ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่มาทำลายแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ ยาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มระดับของแอซิติลโคลีน เป็นการรักษาตามอาการ โดยการปรับระดับของสารสื่อประสาทให้มีมากขึ้น แต่ต้องย้ำว่าการรักษาด้วยยานี้ไม่ได้ทำให้โรคหายขาด เพียงแต่ช่วยประคับประคองและยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับผลกระทบน้อยลง” แพทย์หญิงสสิธรกล่าว

ส่วนการรักษาที่ไม่ใช้ยานั้น แบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน ได้แก่ การบริหารสมอง และการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องและใกล้ชิด “การบริหารสมองแพทย์จะหากิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดหรือเกมส์ให้ผู้ป่วยเล่น เช่น ให้เล่นเกมส์ Sudoku อ่านหนังสือ ควบคู่ไปกับการเน้นความสำคัญในเรื่องของการดูแลผู้ป่วย ซึ่งต้องมีการแนะนำการดูแลที่ถูกต้องอย่างใกล้ชิด ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับการดำเนินของโรค การจัดสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสม และความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมไปถึงให้การดูแลผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย เพื่อรักษาสภาพทางจิตใจและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยผู้ดูแล และครอบครัว” 

ข้อควรรู้สำหรับผู้ดูแล

  • แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับตัวผู้ป่วยแต่เพียงผู้เดียว โรคนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมอย่างที่เรานึกไม่ถึงเลยทีเดียว เพื่อเป็นแนวทาง และทำความเข้าใจกับโรคนี้ แพทย์หญิงโสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ มีคำแนะนำสำหรับการให้การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมไว้ดังนี้
  • ทำความเข้าใจ ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจและยอมรับกับภาวะสมองเสื่อมของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำ และการใช้ความคิดด้านต่าง ๆ ตลอดจนการสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือการควบคุมตนเองของผู้ป่วย จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพ พฤติกรรม ไปจนถึงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นไม่ใช่แกล้งทำ
  • ให้ความรัก การดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ เมื่อผู้ดูแลตระหนักว่ายังมีความรักให้กับผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลก็จะสรรหาวิธีการรักษาการดูแลด้านจิตใจ และอื่น ๆ ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วยได้ โดยการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การขับถ่ายอย่างถูกสุขอนามัย การอาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้า รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้านเพื่อไม่ให้เกิดการพลัดหลงกัน
  • รู้ขีดจำกัดของตนเอง นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ตัวผู้ดูแลเองก็ควรจะดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย รู้ขีดความอดทน สภาพทางอารมณ์ของตัวเอง เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ บางครั้งผู้ดูแลอาจรู้สึกผิด ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำว่าถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นนอกจากผู้ดูแลจะมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แล้ว ต้องดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วย หากรู้สึกเหนื่อยก็ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วก็ค่อยกลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแลใหม่

พญ. โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์
 
ในปัจจุบันผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมจำนวนมากถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้ในอดีตอาจเคยเป็นกำลังสำคัญในการเลี้ยงดูครอบครัว และทำงานสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและให้ความรัก ให้ผู้ป่วยยังคงรู้สึกมีศักดิ์ศรีอย่างที่มีมาตลอด ซึ่งบุคคลที่จะมาเป็นผู้ดูแลนั้นควรเป็นคนในครอบครัวคนใกล้ชิด หรือลูกหลานที่รู้จักและเข้าใจผู้ป่วยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว รู้ว่าผู้ป่วยชอบหรือไม่ชอบอะไร สามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยได้ เพราะการดูแลด้วยความรักและความเข้าใจจากบุคคลในครอบครัวนั้นจะช่วยส่งเสริมภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs