bih.button.backtotop.text

Q & A ปัญหากวนใจเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

ปัญหากวนใจเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอาจเกิดกับใครก็ได้ การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความผิดปกติต่าง ๆ เป็นก้าวแรกดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม

ปัญหากวนใจเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอาจเกิดกับใครก็ได้ การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความผิดปกติต่าง ๆ เป็นก้าวแรกดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม นพ. สิน อนุราษฎร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ เป็นผู้ไขข้อสงสัยของคุณในฉบับนี้
 

Q: คุณหมอครับ ผมรู้สึกว่าระยะหลังมานี่เรอบ่อยมาก เกรงว่าคนรอบข้างจะรำคาญมีวิธีแก้ไขหรือควบคุมได้อย่างไรครับ 

A: แก๊สในระบบทางเดินอาหารโดยทั่วไปเกิดได้จากการกลืนอากาศเข้าไปในระหว่างการดื่มเครื่องดื่มรับประทานอาหาร อมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือเกิดขึ้นเมื่อมีการย่อยไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตหรือใยอาหารบางชนิด เช่น น้ำตาลแล็คโตสในนม ขนมปัง น้ำตาลข้าวโพด บร็อคโคลี กระหล่ำปลีมันฝรั่งถั่ว ฯลฯ หรือเกิดจากแบคทีเรียซึ่งทำหน้าที่ย่อยกากอาหารในลำไส้ใหญ่

การเกิดแก๊สในกระเพาะหรือลำไส้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละวันคนเราอาจขับแก๊สได้มากถึง 15 ครั้งผ่านทางการเรอหรือผายลม หากพบว่าคุณต้องขับแก๊สบ่อยกว่านั้นก็ลองใส่ใจเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตนเองสักหน่อยดังนี้

ลองสังเกตตนเองภายหลังรับประทานอาหารต่าง ๆ ดูว่าอาหารชนิดใดที่ทำให้คุณรู้สึกรับประทานแล้วมีแก๊สตามมา ควรหลีกเลี่ยงอาหารนั้น ๆ หรือรับประทานแต่น้อย เคี้ยวอาหารให้ละเอียด รับประทานอาหารให้ช้าลง เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม เลิกอมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง
 
หากปรับพฤติกรรมแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการจุกเสียด แน่นท้องร่วมด้วยทั้งยังไม่ดีขึ้นเมื่อระบายแก๊สแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
 

Q: เคยได้ยินว่าการรับประทานแอสไพรินจะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่คะ

A: การใช้ยาแอสไพรินได้รับการยอมรับให้ใช้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบ แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งจะชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ในการป้องกันร่วมกับผลข้างเคียงของยา 
 
สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น มีข้อมูลว่าการรับประทานยาแอสไพรินขนาดต่ำ ๆ ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ราวร้อยละ 40 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตื่นเต้น แต่แนวทางดังกล่าวยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยต่อเพื่อยืนยันผลลัพธ์และขนาดที่เหมาะสมหากจะมีการอนุมัติให้นำมาใช้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ก็คือผลข้างเคียงจากการใช้ยา เนื่องด้วยแอสไพรินมีคุณสมบัติต่อต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารและเลือดออกในสมอง อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการรักษาภาวะดังกล่าวด้วย ร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อน อะไรที่ใครว่าดีอาจไม่เหมาะสมสำหรับสภาพร่างกายของคุณเสมอไป ปรึกษาแพทย์ขอคำแนะนำก่อนทุกครั้ง หากคิดจะลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวคุณเอง
 

Q: ดิฉันชอบดื่มกาแฟใส่นมมากค่ะแต่เหมือนจะท้องเสียทุกครั้ง สงสัยจะแพ้นมวัว มีวิธีใดจะช่วยได้บ้างไหมคะ

A: อาการท้องเสียเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุในกรณีนี้ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการแพ้น้ำตาลแลคโตสซึ่งอยู่ในนมวัวซึ่งพบบ่อยในผู้ใหญ่ เนื่องจากแลคเตสหรือเอนไซม์ย่อยน้ำตาลในนมจะถูกสร้างขึ้นมากที่สุดในวัยทารกและลดลงเป็นลำดับเมื่อเจริญวัยขึ้น
 
การแพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) แตกต่างจากการแพ้นม (Milk Allergy) กล่าวคือผู้ที่แพ้แลคโตสจะมีอาการท้องเสีย ส่วนผู้ที่แพ้นมวัวจะหมายถึงการแพ้โปรตีนในนมและมีอาการแสดงแบบโรคภูมิแพ้ เช่น เป็นผื่น ตาบวม หอบหืด เป็นต้น

เมื่อมีอาการปวดท้องและท้องเสียภายในเวลา 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมงหลังดื่มนมควรลองงดบริโภคนมระยะหนึ่งเพื่อสังเกตอาการ ถ้าหายดีก็น่าเชื่อได้ว่าสาเหตุมาจากการแพ้น้ำตาลในนมจริง ๆ ซึ่งถ้าหากอยากดื่มนม ควรเริ่มดื่มแต่น้อยแล้วสังเกตตัวเองว่าดื่มปริมาณเท่าไรจึงจะไม่เกิดอาการ บางรายแพทย์อาจให้ยาเม็ดเสริมเอนไซม์ กรณีที่ไม่หายแพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคและหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs