bih.button.backtotop.text

Q & A อาการเจ็บแน่นหน้าอก

26 มกราคม 2555

เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นนั้นมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือเป็นผลมาจากอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน ซึ่งก็ทำให้รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกได้เช่นกัน 

Q:    เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นนั้นมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือเป็นผลมาจากอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน ซึ่งก็ทำให้รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกได้เช่นกัน 
 

A:    อาการเจ็บแน่นหน้าอกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากแผลที่เยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดจากความรู้สึกกลัวหรืออึดอัดไม่สบายอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เป็นโรคปอดบวม รวมทั้งเกิดจากอาการจุกแน่นปวดแสบปวดร้อนตั้งแต่หน้าอกไปจนถึงลิ้นปี่ ซึ่งเป็นอาการของโรคระบบทางเดินอาหารอย่างโรคกรดไหลย้อน ที่มักเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป โดยจะมีความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในคอร่วมด้วย

การหาสาเหตุที่แท้จริงขณะที่มีอาการเจ็บนั้นเป็นเรื่องยาก แต่หากสามารถระบุอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ สัญญาณบ่งชี้ของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

+ อาการเจ็บหรืออึดอัดไม่สบายตรงกลางหน้าอก คล้ายโดนบีบรัด

+ เหนื่อย หายใจขัด

+ เจ็บหน้าอก ร่วมกับเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มีเหงื่อออกมาก

+ เจ็บแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกายหรือเมื่อเกิดความเครียด

ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะทุกนาทีอาจหมายถึงชีวิต

 

Q:    ผมค่อนข้างสับสนระหว่าง ไขมันคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ ใคร ๆ ก็แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ แต่ไขมันก็มีทั้งดีและไม่ดี ถ้าผมต้องการให้หัวใจแข็งแรงผมควรจะต้องรับประทานอะไรและหลีกเลี่ยงอะไรครับ

A:    แม้จะทราบกันดีว่าควรรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ แต่วิกฤติโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลกก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ชนิดของไขมันที่เรารับประทานนั่นเอง ทั้งนี้ ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวต่างก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งพบได้ในน้ำมันและอาหารจากพืชยกเว้นน้ำมันปาล์ม จัดเป็นไขมัน “ดี” ส่วนไขมันตัวร้ายมักได้จากเนื้อติดมัน นม ผลิตภัณฑ์จากนม (Full cream) และน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน เช่น ครีมเทียม เนยเทียม (มาการีน)และเนยขาว (Shortening)
 

ในกรณีของคอเลสเตอรอลนั้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องตัดขาดจากอาหารอย่างไข่หรือนมโดยสิ้นเชิง เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน เทสโทสเตอโรนและวิตามิน ดี และคอเลสเตอรอลส่วนใหญ่ก็ผลิตขึ้นภายในร่างกายของเรานี่เอง ดังนั้นอาหารเพื่อสุขภาพจึงอาจมีคอเลสเตอรอลปะปนอยู่ได้บ้าง ปริมาณคอเลสเตอรอลที่ได้จากอาหารไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
 

การลดระดับไตรกลีเซอไรด์ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารคาร์โบไฮเดรต ประเภทน้ำตาลฟรุกโตสและขนมหวาน ควรรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ถูกขัดสี เพิ่มการรับประทานผักสด ผลไม้สด และธัญพืชเพราะอาหารเหล่านี้มีใยอาหารมากสามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และน้ำหนักตัวได้
 

Q:    การรับประทานยาแอสไพรินวันละหนึ่งเม็ดช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้จริงหรือไม่ และปลอดภัยสำหรับทุกคนหรือเปล่าคะ

A:    ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยต้านการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด ทำให้แอสไพรินถูกนำมาเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยล่าสุด เริ่มมีการตั้งข้อสงสัยว่า จริงหรือที่ประโยชน์จากแอสไพรินจะมากถึงขนาดที่ทำให้เรามองข้ามความเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะอาการเลือดออกภายในสำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน
 

ดังนั้น คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเริ่มรับประทานแอสไพรินทุกวันเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าหนึ่งกลุ่มต่อไปนี้ คือ มีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และสูบบุหรี่
 

ทั้งนี้ คุณสามารถป้องกันตัวเองจากโรคได้ด้วยการลดน้ำหนักส่วนเกิน เลิกสูบบุหรี่ และพยายามควบคุมความดันโลหิตระดับคอเลสเตอรอล รวมถึงน้ำตาลในเลือดให้ได้

สำหรับคุณที่รับประทานแอสไพรินเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว หากมีข้อสงสัย หรือต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้ยา กรุณาปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs