bih.button.backtotop.text

กระดูกและข้อต่อ ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ บำรุงราษฏร์

ออกกำลังกายแต่เด็กกระดูกแข็งแรงกว่า


งานวิทยานิพนธ์จากสถาบันชาลเกรนสกา แห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดนระบุว่า การออกกำลังกายตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นช่วยให้กระดูกหนาแน่น และมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนที่ลดลงในอนาคต
 

นักวิจัยทำการตรวจสุขภาพกระดูกร่วมกับการเก็บข้อมูลเรื่องการออกกำลังกายของชายจำนวน 3,200 ราย ในจำนวนนี้มีการสุ่มตรวจกระดูกส้นเท้าจำนวนมากกว่า 2,300 ราย พบว่าผู้ที่เล่นกีฬา หรือเคยเล่นกีฬาจะมีมวลกระดูกหนาแน่นกว่าผู้ที่ไม่เคยเล่นกีฬาอะไรเลย
 

จากนั้น นักศึกษายังตรวจสอบความหนาแน่นและโครงสร้างกระดูกของชายอายุ 19 ปี จำนวน 360 รายที่เลิกเล่นไปแล้ว ผลปรากฏว่าแม้จะหยุดเล่นกีฬาไปแล้วถึง 6 ปี กระดูกขาก็ยังคงแข็งแรงกว่าผู้ที่ไม่เคยเล่นกีฬาเลย และจากการสุ่มตรวจมวลกระดูกทั่วทั้งตัวของชายวัย 75 ปี อีกจำนวน 500 ราย ผลปรากฏว่าผู้ที่เคยเล่นกีฬาอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วงอายุก่อน 30 มีมวลกระดูกในหลาย ๆ ส่วนหนาแน่นกว่าผู้ที่ไม่เคยเล่นกีฬาเลย  


จากผลการศึกษานี้ สรุปได้ว่าการออกกำลังกายตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยเป็นพื้นฐานทำให้กระดูกแข็งแรงไปจนถึงบั้นปลายของชีวิตเลยทีเดียว

นั่งนานเกินไป อาจอันตรายถึงชีวิต

เชื่อหรือไม่ว่า การนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานานอาจทำให้คุณอายุสั้นได้ เรื่องนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเสียแล้ว เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุตรงกันว่า ผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่ง ไม่ว่าจะนั่งที่ไหนก็ตาม ที่ทำงาน ในรถ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ขยับเขยื้อนร่างกายไปไหนเป็นเวลานาน ๆ นั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ และอาจถึงขั้นเสียชีวิต


ล่าสุด British Journal of Sports Medicine ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุถึงอันตรายของการนั่งนานว่า “หลังจากนั่งไป 4 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณผิดปกติ นั่นคือ ยีนที่ควบคุมปริมาณกลูโคสและไขมันในร่างกายจะเริ่มหยุดทำงาน”


ที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะขยันออกกำลังกายขนาดไหน การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานก็บั่นทอนสุขภาพอยู่ดี ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากประเทศแคนาดาที่ผู้วิจัยใช้เวลากว่า 12 ปีในการติดตามประชากรกว่า 17,000 คน และพบว่าผู้ที่นั่งมากกว่ามีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่า ไม่ว่าจะออกกำลังกายหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดว่า ต้องนั่งนานแค่ไหนจึงจะเรียกว่า นานเกินไป แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ยิ่งขยับตัวลุกได้บ่อยครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีกับตัวคุณมากเท่านั้น

เคลื่อนไหวบ้าง หลังรักษาเอ็นร้อยหวายฉีกขาด


เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมศัลยแพทย์กระดูกและข้อของสหรัฐ (The American Academy of Orthopaedic Surgeons หรือ AAOS) ได้อนุมัติและเผยแพร่แนวทางปฏิบัติทางคลินิกว่าด้วยการวินิจฉัยและรักษาผู้ ป่วยเอ็นร้อยหวายขาดแบบเฉียบพลัน โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การแนะนำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวและลงน้ำหนักข้อเท้าบ้างหลังการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว


ทั้งนี้ เอ็นร้อยหวายคือ เส้นเอ็นลักษณะเหมือนเชือกเส้นหนาเชื่อมต่อระหว่างกระดูกส้นเท้ากับกล้ามเนื้อน่องโดยถือเป็นหนึ่งในเส้นเอ็นที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่เอ็นร้อยหวายฉีกขาดจึงแทบไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้


นพ. คริสโตเฟอร์ ชิโอโด ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ ในฐานะประธานของคณะทำงาน AAOS ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแนวทางปฏิบัติ ได้กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว การรักษาอาการเอ็นร้อยหวายขาดอย่างเฉียบพลันอาจทำได้โดยการผ่าตัด เข้าเฝือกหรือใช้อุปกรณ์ยึดอื่น ๆ ซึ่งการเคลื่อนไหวภายใต้การควบคุมของแพทย์และลงน้ำหนักข้อเท้าบ้างหลังการผ่าตัดจะมีส่วนช่วยในเรื่องการฟื้นตัว


ในทางสถิติแล้ว การฉีกขาดของเอ็นร้อยหวายพบได้ทั่วไปในเพศชายอายุระหว่าง 30 - 40 ปีแต่เนื่องจากปัจจุบัน หลายคนยังคงทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแม้จะมีอายุมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะพบอาการบาดเจ็บชนิดนี้ได้ทั่วไปในทุกกลุ่มวัย

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs