bih.button.backtotop.text

จริงหรือหลอก? เรื่องที่ “เขาบอก” เกี่ยวกับมะเร็ง

14 มกราคม 2554

โรคมะเร็งยังคงเป็นโรคที่หลายคนหวั่นเกรงเสมอมาจริงอยู่ที่ว่าปัจจุบันเราเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น  แต่ปัญหาก็คือ ในบรรดาข้อมูลอันมหาศาลนั้น มีข้อมูลอยู่ไม่น้อยที่ถูกส่งต่อ ๆ กันมาโดยไม่ทราบต้นตอที่แท้จริง สิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับโรคมะเร็งนั้นจะน่าเชื่อถือหรือไม่ ลองพิจารณากันดู
 

1. เขาว่า: พ่อแม่เป็นมะเร็ง ลูกก็ต้องเป็นมะเร็งด้วย


ความจริง: ไม่จริงเสมอไป มีโรคมะเร็งเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จริงอยู่โรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีนที่ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ แต่ความผิดปกตินี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว การที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง หมายความว่า ลูกมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัวและต้องไม่ลืมว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่มาจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เมื่อเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ความเสี่ยงต่อโรคก็ย่อมจะลดลงเช่นเดียวกัน


2. เขาว่า: ความเครียดทำให้เป็นโรคมะเร็ง


ความจริง: จริงบางส่วน ความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคมะเร็ง แต่เป็นตัวเร่งให้เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็ว การศึกษาที่ผ่านมาระบุว่าความเครียดและโรคมะเร็งอาจมีความเกี่ยวพันกันทางอ้อม โดยความเครียดส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจนเป็นผลให้กลไกการป้องกันการแบ่งตัวอย่างผิดปกติทำงานไม่ได้ และจากการศึกษาในปี 2553 โดย MD Anderson Cancer Center มลรัฐ Houston สหรัฐอเมริกา พบว่าฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างอะดรีนาลีนเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้มะเร็งเติบโตและแพร่กระจายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งรังไข่ เรื่องนี้อธิบายได้โดยความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับฮอร์โมนเครียดที่เพิ่มขึ้นไปขัดขวางการทำงานของโปรตีนบางชนิดในเซลล์ไม่ให้ทำงานตามปกติ ผลก็คือเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้เร็วขึ้น

 

3. เขาว่า: เมื่อเป็นมะเร็งแล้วมักจะไม่หายขาดโดยเฉพาะระยะท้าย ๆ


ความจริง: ไม่จริง เทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ประกอบกับความใส่ใจในสุขภาพ ทำให้มีการตรวจพบมะเร็งได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยที่ ผู้ป่วยก็มีอัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปีสูงขึ้น นอกจากนี้แม้จะตรวจพบโรคมะเร็งในระยะท้าย ๆ แต่เทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม ประกอบกับความเข้าใจในเรื่องของชีวโมเลกุลก็ช่วยให้การรักษาโรคมะเร็งระยะท้าย ๆ หรือระยะแพร่กระจายมีประสิทธิภาพดีได้ โดยที่ยังอาจหวังผลหายขาดได้


4. เขาว่า: การผ่าตัดมะเร็ง มักจะทำให้มะเร็งแพร่กระจาย


ความจริง: ไม่จริง การผ่าตัดไม่มีผลอันใดกับการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้านัก กว่าแพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ โรคก็ดำเนินไปถึงระยะท้าย ๆ ซึ่ง เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายจากอวัยวะเริ่มต้นไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว แม้จะมีการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายเฉพาะที่ออกไป แต่เซลล์ที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นนั้นไม่ได้ถูกกำจัดไปด้วย การรักษามะเร็งในปัจจุบันจึงใช้หลายวิธีการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดเนื้อร้าย และควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน

การหาความรู้เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องดี และสมควรทำแต่อย่าลืมพูดคุย ปรึกษา หรือสอบถามข้อข้องใจกับแพทย์ของคุณเพื่อความเข้าใจ และคำแนะนำในแนวทางซึ่งถูกต้อง และมีข้อพิสูจน์แน่ชัด ทั้งนี้เพื่อโอกาสในการรักษาที่เต็มประสิทธิภาพนั่นเอง
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs