bih.button.backtotop.text

รักษาโรคมะเร็ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพ

ผลวิจัยชี้เซลล์ "ลวง" ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นับเป็นข่าวดีสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Cancer Research รายงานว่านักวิจัยชาวฝรั่งเศสใช้ชิ้นส่วนดีเอ็นเอเป็นเหยื่อล่อให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ

ตามปกติแล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะได้รับการรักษาโดยใช้ยา และ/หรือการฉายแสงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และเนื้อร้าย แต่ในกรณีที่มีความซับซ้อนนั้น เซลล์มะเร็งสามารถอยู่รอด และฟื้นฟูตัวเองได้ในที่สุด การค้นพบครั้งสำคัญนี้อาจนำไปสู่วิธีการใหม่ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในรายที่การใช้ยา และการฉายรังสีไม่อาจช่วยรักษาได้

ทีมนักวิจัยทำการสร้างกลุ่มดีเอ็นเอเล็ก ๆ ขึ้นมาชื่อว่า Dbaits เพื่อล่อหลอกเซลล์มะเร็งให้ "เชื่อ" ว่าพวกมันถูกทำลายมากกว่าความเป็นจริงจนต้องทำลายตัวเองลง โดย Dbaits ถูกฉีดให้แก่หนูทดลองที่เป็นมะเร็ง ประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสี ผลปรากฏว่าเซลล์มะเร็งถูกทำลายลงถึงร้อยละ 75 ถึง 100 ขณะที่การฉายรังสีแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ทำลายเซลล์มะเร็งได้เพียงร้อยละ 30 ถึง 50

จากความสำเร็จในครั้งนี้ นักวิจัยคาดว่าจะสามารถขยายผลเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ภายในสิ้นปีหน้า

ไวรัสตับอักเสบซี เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับ

วารสาร Hepatology รายงานผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งตับซึ่งเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกมากเป็นอันดับสามในบรรดามะเร็งทั้งหมด

ทีมวิจัยติดตามเก็บข้อมูลทางสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 7 แสนรายเป็นเวลาเฉลี่ยสองปี ในจำนวนนี้พบว่าประมาณ 146,000 ราย มีประวัติการติดเชื้อมาก่อน ส่วนอีก 572,000 รายไม่เคยติดเชื้อ เมื่อผ่านช่วงเวลาของการเก็บข้อมูลไปแล้ว นักวิจัยพบว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับชนิด Intrahepatic Cholangiocarcinoma มากขึ้น กว่าสองเท่า ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งตับชนิด Hepatocellular Carcinoma เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยรับเชื้อมาก่อน

การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ ซึ่งในท้ายที่สุด ไวรัสตับอักเสบซีอาจพัฒนาต่อกลายเป็นมะเร็งตับ ตับแข็ง และตับวาย เมื่อได้รับเชื้อแล้วมักไม่ค่อยมีอาการปรากฏให้เห็น ส่วนมากจะทราบว่าติดเชื้อก็เมื่อผ่านไปแล้วหลายปี หรือหลายสิบปี

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้ดีว่าการป้องกันไว้ก่อนนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด รวมทั้งความจำเป็นในการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อว่าหากเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้น แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกเริ่มซึ่งการรักษาจะได้ผลดีกว่า ทั้งยังเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยกว่าอีกด้วย

ค้นพบยีนสาเหตุของมะเร็งปอด

วิทยาศาสตร์พิสูจน์มานานแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปอด แต่การพิสูจน์ว่าเพราะ เหตุใดนักสูบบางรายเป็นโรคมะเร็งปอด ขณะที่บางรายไม่เป็นนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าจนถึงบัดนี้

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics เผยถึงลักษณะเฉพาะของยีนที่ทำให้นักสูบบางราย มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่น โดยการทดสอบยีนในผู้ใหญ่กว่า 9 พันรายซึ่งประกอบไปด้วย ผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และผู้ที่เคยสูบบุหรี่ นักวิจัยค้นพบลักษณะเฉพาะของยีนที่โครโมโซม 15 ถึง 2 ประการซึ่งสัมพันธ์ กับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดในผู้สูบบุหรี่บางราย

นักสูบที่มีลักษณะเฉพาะของโครโมโซม 1 หรือ 2 แบบมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่านักสูบที่ไม่มี ตั้งแต่ร้อยละ 28 ถึง 81 ลักษณะเฉพาะของยีนดังกล่าวนี้พบทั้งในผู้ที่สูบบุหรี่ไม่มาก และผู้ที่เพิ่งสูบมาได้ไม่นาน

สำหรับการสูบบุหรี่ ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น ผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด มากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบเลย เพราะฉะนั้น หากคุณยังไม่อาจเลิกสูบบุหรี่ได้ละก็ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำ เกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ในการเลิกบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาดต่อไป
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs