bih.button.backtotop.text

คุณรู้จักโรคหัวใจดีพอหรือยัง?

23 มกราคม 2552
โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลกทุก ๆ วันมีคนไทยเสียชีวิตด้วยสาเหตุอันเนื่องมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจมากถึง 236 คน หรือกว่า 85,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “โรคหัวใจ” หลายคนมักเข้าใจกันแต่ว่าเป็นโรคที่เกิดกับหัวใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนในรายละเอียดอาจไม่ทราบแม้จะเป็นโรคซึ่งจัดว่าร้ายแรงโรคหนึ่งคำว่า “โรคหัวใจ” ที่เรารู้จักกันนั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ดังนั้นเพื่อทำความรู้จักกับ “หัวใจ” ให้ดีกว่าเดิม Better Health ฉบับนี้ถ่ายทอดคำอธิบายจาก นพ. วัธนพล พิพัฒน์นันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจมาให้คุณได้อ่านกัน

กายวิภาคของหัวใจ

“ตำแหน่งของหัวใจนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างปอดทั้งสองข้าง แต่จะค่อนมาทางซ้ายเล็กน้อย” นพ.วัธนพลอธิบาย “หัวใจประกอบขึ้นจากกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำงานอย่างอิสระ ห่อหุ้มไว้ด้วยเยื่อบาง ๆ มีน้ำหนักโดยรวมประมาณ 200 ถึง 425 กรัม ในวันหนึ่ง ๆ หัวใจบีบตัวประมาณ 100,000 ครั้งเพื่อส่งเลือดดำไปฟอกยังปอด และส่งเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำงานอยู่อย่างนี้ตลอดไม่มีวันพัก”

ส่วนประกอบของหัวใจตามลักษณะกายวิภาคที่สำคัญนั้นประกอบไปด้วย

  • เยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) มีลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มหัวใจไว้
  • หลอดเลือดหัวใจ (Coronary arteries) อยู่ภายนอกเยื่อหุ้มหัวใจ มีกิ่งก้านแตกแขนงส่งเลือดไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจหลักมี 2 เส้นด้วยกัน คือ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจด้านขวาและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจด้านซ้าย
  • กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) ทำหน้าที่ส่งเลือดไปยังระบบไหลเวียนโลหิตโดยการหดตัว เกิดเป็นแรงดันให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจมีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งกับกล้ามเนื้อหัวใจ อาทิ บีบตัว คลายตัวผิดปกติ มีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ หรือขาดเลือด จะกลายเป็นปัญหาที่สำคัญตามมา
  • ผนังกั้นห้องหัวใจ และลิ้นหัวใจ (Endocardium and cardiac valve) มีลักษณะเป็นแผ่นบางบุผนังด้านในของหัวใจ เป็นตัวแบ่งให้หัวใจ มี 4 ห้องรวมทั้งเป็นส่วนของลิ้นหัวใจ

นอกจากการทำงานที่ไม่เคยหยุดตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ส่วนประกอบที่พิเศษอีกประการหนึ่งของหัวใจได้แก่ ระบบไฟฟ้าของหัวใจ “การที่หัวใจสามารถบีบตัว หรือคลายตัวได้อย่างอิสระนั้น เป็นเพราะหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าได้เองแล้วส่งกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ภายในห้องทั้งสี่ ไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัวอย่างเป็นจังหวะเพื่อส่งเลือดเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตนั่นเอง” นพ.วัธนพล อธิบาย

ความผิดปกติที่เกิดจากส่วนประกอบของใด ๆ ของหัวใจ อาจกลายเป็นสาเหตุให้หัวใจทำงานอย่างผิดปกติได้ คำว่าโรคหัวใจนั้นสามารถแยกย่อยออกไปได้อีกหลายประการตามแต่สาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ

ประเภทของโรคหัวใจ

นพ.วัธนพลกล่าวว่าโรคหัวใจมีทั้งชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด และเกิดขึ้นภายหลังซึ่งจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป เราอาจ แบ่งกลุ่มของโรคหัวใจเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้
 
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจของทารกในครรภ์มารดา อันอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสและการได้ รับสารเคมีหรือยาบางชนิดระหว่างการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดความพิการขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจ หรือลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
  • โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติค (Rheumatic heart disease) มักเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อคออักเสบเรื้อรัง จนทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น แต่ภูมิต้านทานนี้กลับทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะหลายระบบ ซึ่งรวมถึงการเสื่อมและการอักเสบของลิ้นหัวใจด้วย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง (Heart muscle (hypertensive) disease) เกิดกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหัวใจขาดเลือด (Coronary artery disease (atherosclerosis))เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสะสมตัวของไขมันจนอุดตันในเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดไม่สามารถนำเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial heart disease) มักเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือวัณโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ ยกเว้นกรณีที่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของมะเร็งมายังเยื่อหุ้มหัวใจ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) สาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น มีจุดกำเนิดไฟฟ้าแปลกปลอม หรือมีวงจรไฟฟ้าผิดปกติ โดยปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการ ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความเครียดและวิตกกังวล แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน รวมไปถึงยาบางชนิด
  • การติดเชื้อที่หัวใจ (Heart infection) มักเป็นการติดเชื้อภายในหัวใจที่มีความผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อในร่างกายขึ้น เช่น เป็นฝี หนอง หรือฟันผุ เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังบริเวณหัวใจที่มีความผิดปกติจนทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทาน ในร่างกายต่ำหรือผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีด
  • มะเร็งที่หัวใจ (Heart cancer) แม้ว่าโดยปกติแล้วจะไม่ค่อยตรวจพบเนื้องอกที่หัวใจ แต่มะเร็งที่หัวใจส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะข้างเคียงมาสู่หัวใจ เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม

ใจดวงนี้ ต้องดูแล

แม้คุณจะทำอะไรได้ไม่มากนักสำหรับความผิดปกติของหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด แต่สำหรับโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องที่อาจป้องกันได้

“สุขภาพของหัวใจเป็นเรื่องที่คุณดูแลได้ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายความเครียด และเลิกสูบบุหรี่ ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่า สามารถลดปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจ อาทิ ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ลงไปได้มากทีเดียว” นพ.วัธนพล กล่าวปิดท้าย
   
คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ลองทดสอบดู
 
  1. เป็นชายอายุมากกว่า 45 ปี หรือ หญิงอายุมากกว่า 55 ปี (ใช่/ไม่ใช่)
  2. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือด (ใช่/ไม่ใช่)
  3. สูบบุหรี่เป็นประจำ (ใช่/ไม่ใช่)
  4. ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ใช่/ไม่ใช่)
  5. มีน้ำหนักตัวมาก (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30) (ใช่/ไม่ใช่)
  6. มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ใช่/ไม่ใช่)
  7. มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงเกินกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ใช่/ไม่ใช่)
  8. มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท (ใช่/ไม่ใช่)
  9. มักจะเครียดและวิตกกังวล หรืออารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เสมอ (ใช่/ไม่ใช่)
  10. ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และฟาสต์ฟู้ด (ใช่/ไม่ใช่)
  11. ไม่ชอบออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา (ใช่/ไม่ใช่)

หากคุณตอบว่าใช่ 2 ข้อหรือมากกว่า แสดงว่าคุณเป็นผู้หนึ่งที่กำลังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และควรไปพบ แพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ พร้อมฟังคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคหัวใจต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs