bih.button.backtotop.text

พลิกเกมรบสู้มะเร็งร้าย: ยาสกัดกั้นกลไกการซ่อมแซมดีเอ็นเอภายในเซลล์มะเร็ง

24 ธันวาคม 2562
งานประชุมประจำปีของสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป (ESMO) ถือเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในด้านมะเร็งวิทยาที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในระดับโลก ในแต่ละปีนักวิจัยและแพทย์จะมาแบ่งปันประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง และรายงานความคืบหน้าในการค้นคว้ายากลุ่มต่างๆ และในงานประชุมประจำปีนี้ (ESMO 2019) ยากลุ่มที่นับว่าเป็นดาวเด่นก็คือ “PARP inhibitor” เพราะมีการเปิดตัวผลการวิจัยว่าด้วยประสิทธิผลอันน่าทึ่งของยากลุ่มดังกล่าวถึงสองตัวในคราวเดียวกัน

อย่างที่รู้กันว่าเซลล์มะเร็งทั้งหลายนั้น ก็เริ่มจากการเป็นเซลล์ปกติธรรมดานี่เอง ทว่าเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นจนรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ผิดเพี้ยนไป ซึ่งโดยปกติแล้วกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายจะคอยซ่อมแซมเซลล์เหล่านี้ให้กลับคืนดีดังเดิม หรือหากเกินความสามารถที่จะซ่อมแซม ก็จะกำจัดเซลล์เหล่านั้นไป

การซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายเกิดขึ้นผ่านการทำงานของยีนต่างๆ เช่น ยีน BRCA ซึ่งจะทำงานร่วมกันกับเอนไซม์ชื่อว่า Poly (ADP-ribose) polymerase (PARP) แต่หากยีน BRCA กลายพันธุ์จนไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเหลือ PARP ทำงานอยู่ตามลำพัง การซ่อมแซมความเสียหายของดีเอ็นเอจึงไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเปอร์เซนต์ และเซลล์ก็จะยังคงมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่

ร่างกายของคนเรานั้นมีระบบตรวจจับและกระตุ้นให้เซลล์ที่ผิดปกติทำลายตัวเองไปโดยอัตโนมัติอยู่ แต่ปัญหาก็คือ ความผิดปกติของเซลล์ที่ผ่านการซ่อมแซมดีเอ็นเอบางส่วน (ด้วย PARP) มาแล้ว กลับไม่มากพอจะกระตุ้นกลไกทำลายตัวเองดังกล่าว เซลล์ที่ยังมีความผิดปกติหลงเหลือจึงมีโอกาสที่จะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ก้อนมะเร็ง” ในที่สุด
 
ยาในกลุ่ม PARP inhibitor ซึ่งแปลตรงตัวว่ายายับยั้ง PARP เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยการเข้าไปสกัดกั้นไม่ให้โปรตีน PARP ซ่อมแซมดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ปิด” ระบบซ่อมที่เหลือเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไปเสียเลย ดังนั้นความเสียหายภายในเซลล์ก็จะสูงถึงระดับที่จะกระตุ้นให้กลไกการทำลายตัวเองทำงาน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของเซลล์มะเร็ง
 
และที่สำคัญก็คือยา PARP นี้จะมีผลต่อเซลล์มะเร็งที่มีความผิดปกติในการซ่อมแซมดีเอ็นเอเท่านั้น เซลล์ที่ดีอื่น ๆ จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น จึงถือเป็นการรักษาแบบจำเพาะเจาะจง (targeted therapy) รูปแบบหนึ่ง ในปัจจุบัน มียากลุ่ม PARP inhibitor หลายตัว เช่น  olaparib, niraparib, rucaparib and talazoparib ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
 
แต่สิ่งที่ทำให้ยากลุ่ม “PARP inhibitors” กลายเป็นดาวเด่นในการประชุมสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป 2019 (ESMO 2019) ที่ผ่านมา ก็คือผลการศึกษาใหม่ล่าสุดอันน่าทึ่งที่ว่า ประสิทธิผลของยากลุ่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่กับมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมากเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมะเร็งที่ไม่มีการทำงานผิดปกติของยีน BRCA เช่น มะเร็งรังไข่อีกด้วย
 
โดยการศึกษาโครงการหนึ่งพบว่าการให้ olaparib ร่วมกับ bevacizumab (ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงมะเร็ง) เป็นการรักษาระยะต่อเนื่องหลังได้รับเคมีบำบัดแล้ว สามารถยืดระยะเวลาการรอดชีวิตโดยปราศจากโรคของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จากโดยเฉลี่ย 16.6 เดือน เป็น 22.6 เดือน
 
เท่านั้นยังไม่พอ ยายับยั้ง PARP อีกตัวคือ nirapanib ยังยืดระยะเวลาการรอดชีวิตโดยปราศจากโรคของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะแพร่กระจายที่ผ่านการทำเคมีบำบัดครบคอร์สแล้วได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การให้ veliparib ร่วมกับเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ต้น และให้ veliparib ต่อหลังเคมีบำบัดเสร็จสิ้น ก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน ผลการศึกษาของยายับยั้ง PARP เหล่านี้ ถือเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ อันเป็นมะเร็งซึ่งพบเป็นอันดับห้าในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งหญิงทั้งหมด
 
ประสิทธิผลของยาต่อมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ก็ยังโดดเด่นเช่นเดิม olaparib ยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการลดฮอร์โมน (castrate-resistant prostate cancer [CRPC]) และมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ได้เป็นอย่างดี ขณะที่การให้ veliparib ร่วมกับ carboplatin และ paclitaxel เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม/แพร่กระจายที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA และไม่พบตัวรับ HER2 อย่างยิ่ง
 
นับได้ว่านี่เป็นความสำเร็จอีกขั้นในความพยายามพัฒนาทางการแพทย์ ที่จะสามารถทำให้เราพลิกเกมการต่อสู้ให้เราได้เปรียบต่อโรคร้าย ด้วยการขยายขอบเขตการรักษาจากองค์ความรู้เดิม และเป็นข่าวดีสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยในการยืนหยัดต่อสู้กับโรคร้าย เพิ่มโอกาสการรักษา สร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น และเพิ่มระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะอยู่อย่างสุขสบายใจกับครอบครัวต่อไป

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs