bih.button.backtotop.text

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเอ็มอาร์ไอวิธีใหม่ สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย จากสถิติพบว่าผู้ชาย 1 ใน 8 คนจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ มะเร็งต่อมลูกหมากจะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเริ่มแรก ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงเป็นวิธีการที่ดีในการทำให้พบมะเร็งตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการ โอกาสในการรักษาให้หายก็จะสูงกว่า
 

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย บีพีเอ็มอาร์ไอ (Biparametric magnetic resonance imaging: bpMRI) คืออะไร
การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นการใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง คลื่นความถี่วิทยุร่วมกับการคำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ภาพเสมือนของอวัยวะภายในร่างกาย ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดของเนื้องอกในส่วนต่างๆของร่างกายได้ โดยปกติการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเอ็มอาร์ไอที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน เราเรียกว่า เอ็มพีเอ็มอาร์ไอ (Multi-parametric magnetic resonance imaging: mpMRI) ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้แพทย์เห็นภาพต่อมลูกหมากได้อย่างละเอียดชัดเจนโดยเอ็มพีเอ็มอาร์ไอ จะใช้ 3 เทคนิคร่วมกันในการตรวจหามะเร็ง และแปลผล นั่นคือ เทคนิคการสร้างภาพแบบ T2 (T2-weighted imaging) เทคนิคการสร้างภาพแบบ DWI (Diffusion-weighted imaging) และเทคนิคการใช้สารทึบรังสี (Contrast media) หรือที่เรียกว่าการฉีดสี (Dynamic contrast study)เพื่อให้สามารถเห็นมะเร็งได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การตรวจบีพีเอ็มอาร์ไอได้ตัดขั้นตอนการฉีดสีออกไป ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง ลดความเสี่ยงในการแพ้สารทึบรังสีและใช้เวลาในการตรวจน้อยลง เหลือเพียงไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ยังมีความแม่นยำในการตรวจหามะเร็งสูงอยู่

การตรวจคัดกรองแบบบีพีเอ็มอาร์ไอ (bpMRI) แตกต่างจากการตรวจเลือดหาค่า PSA (Prostate-Specific Antigen) อย่างไร

การตรวจเลือดหาค่า PSA มักรวมอยู่ในการตรวจร่างกายประจำปีสำหรับผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดหาค่า PSA สามารถได้ผลบวกเทียม (False positive) หรือผลลบเทียม (False negative) ได้สูงประมาณ 20 ถึง 30% หมายความว่า หากตรวจแล้วได้ผลบวก ไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีนัยสำคัญทางคลินิค* (Clinically significant cancer)เสมอไป แต่อาจเป็นต่อมลูกหมากอักเสบ, ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิคก็ได้ และกรณีผลตรวจเป็นลบ(หรือผลปกติ) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างแน่นอน
สำหรับการตรวจบีพีเอ็มอาร์ไอจะมีความไว ความถูกต้องแม่นยำและความเฉพาะเจาะจงของผลตรวจมากกว่า เช่น หากผลการตรวจเจอก้อนเนื้องอกที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นก้อนมะเร็งที่มีนัยสำคัญทางคลินิค
*มะเร็งที่มีนัยสำคัญทางคลินิค (Clinically significant cancer) หมายถึง มะเร็งที่ต้องได้รับการรักษา หรือ การตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อ เพิ่มเติม
 

ใครบ้างที่เหมาะสมกับการตรวจคัดกรองแบบบีพีเอ็มอาร์ไอ (bpMRI)

เนื่องจากการตรวจบีพีเอ็มอาร์ไอได้ตัดขั้นตอนการฉีดสีออกไป ทำให้มีความแม่นยำใกล้เคียงกันหรือน้อยกว่าการตรวจเอ็มพีเอ็มอาร์ไอเล็กน้อยในผู้ป่วยบางกลุ่ม จึงไม่แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ ดังนั้นกลุ่มคนที่เหมาะสมกับการตรวจด้วยบีพีเอ็มอาร์ไอได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติหรือไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็ได้
  • ไม่เคยทำเอ็มพีเอ็มอาร์ไอเพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมาก่อน
  • ไม่เคยตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมาก่อน
  • ไม่มีข้อห้ามในการทำเอ็มอาร์ไอ เช่น ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ใส่ลิ้นหัวใจเทียม หูชั้นในเทียมและเครื่องกระตุ้นประสาท (ขึ้นกับชนิดและรุ่นของอุปกรณ์)
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการที่ทำงานร่วมกันเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น รังสีแพทย์, แพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินปัสสาวะ,แพทย์รังสีรักษา และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคมะเร็ง รวมถึงทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์สูงในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่จะคอยดูแลท่านและครอบครัวให้ได้รับการตรวจรักษาอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนยีอันทันสมัยและครบวงจร

 
เรียบเรียงโดย นพ. วิทยา ประสิทธิ์วรนันท์


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

           E-mail: [email protected]

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs