bih.button.backtotop.text

รู้จักภาวะครรภ์เสี่ยง เตรียมความพร้อมเพื่อการตั้งครรภ์

ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือ high risk pregnancy เป็นการตั้งครรภ์ที่คาดว่าอาจมีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติทางสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์ เมื่อเห็นคำอธิบายแบบนี้แล้ว อาจทำให้ว่าที่คุณแม่หลายๆ คนตกใจกลัวและเกิดความกังวลว่าตัวเองจะมีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ ลองมาทำความรู้จักภาวะครรภ์เสี่ยงสูงนี้กันครับ
 

โดยแท้จริงแล้ว การตั้งครรภ์ทุกครั้งถือได้ว่ามีความเสี่ยง แต่อาจมีความเสี่ยงมากหรือน้อยแตกต่างกันไป การจะทราบว่ามีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณแม่ ซึ่งล้วนอาจส่งผลต่อทั้งแม่และลูกในท้องได้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีมากมายหลายปัจจัย เช่น

นอกจากนี้ ในระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อ โดยการติดเชื้อที่พบมากที่สุดคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตอาการได้จากการมีปัสสาวะแสบขัด มีไข้ หนาวสั่น ส่วนการติดเชื้อที่รุนแรงมากสำหรับเด็กคือการติดเชื้อแบคทีเรีย group B streptococcus (GBS) ในช่องคลอด ซึ่งอาจเข้าไปในปอดเด็กขณะที่เด็กผ่านช่องคลอด ทำให้ปอดบวมและเสียชีวิตได้


นอกเหนือจากการติดเชื้อแล้ว ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบได้อีกระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ ภาวะครรภ์เป็นพิษ (ตรวจดูได้จากความดันโลหิตสูง อาการบวมตามตัว และปัสสาวะมีไข่ขาว) ความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ครรภ์แฝดซึ่งเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ความผิดปกติของทารกในครรภ์ (เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ลิ้นหัวใจรั่ว มีอวัยวะไม่ครบ เป็นต้น) เด็กในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติซึ่งส่งผลต่อการคลอด เช่น อยู่ในท่าก้นหรือท่าขวาง ภาวะรกเกาะต่ำ รกขวางทางคลอดที่อาจทำให้เกิดการตกเลือดขณะคลอด น้ำคร่ำมากซึ่งทำให้มีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด น้ำคร่ำน้อยทำให้เด็กออกมาตัวเล็กและสำลักน้ำคร่ำได้


แม้จะดูเหมือนว่าความเสี่ยงในการตั้งครรภ์จะมีมาก และอาจสร้างความกังวลใจให้กับว่าที่คุณแม่อยู่ไม่น้อย แต่การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ของคุณแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงได้ โดยคุณแม่ต้องดูแลสุขภาพตนเอง ตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน รวมถึงเข้ารับการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเบื้องต้น และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ควรมาฝากครรภ์ตั้งแต่ในระยะแรกๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เข้าข่ายภาวะครรภ์เสี่ยงสูง เพื่อจะได้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เป็นการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์ที่จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติทำได้แม่นยำและชัดเจนขึ้น เช่น การเจาะเลือดตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในทารกด้วยวิธีนิฟตี้เทสต์ (NIFTY test) การทำอัลตราซาวนด์แบบละเอียดซึ่งช่วยให้เห็นความสมบูรณ์ของอวัยวะเด็กในครรภ์ เป็นต้น

 
อย่างไรก็ดี ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อยจะต้องมีปัญหาสุขภาพ เพียงแต่เป็นการคาดว่าอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ สำหรับกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ การทราบล่วงหน้าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ถึงการแก้ไขปัญหาและควบคุมความเสี่ยง รวมถึงการมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาอย่างปลอดภัย


ทั้งนี้ สิ่งที่ว่าที่คุณแม่ทุกคนจะต้องใส่ใจ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ก็คือ การดูแลสุขภาพตัวเองและสุขภาพครรภ์เป็นพิเศษ โดยการดำเนินชีวิตให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สารเสพติด และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด


จะเห็นได้ว่า ภาวะครรภ์เสี่ยงสูงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่กลับเป็นสัญญาณเตือนให้ว่าที่คุณแม่ได้มีการดูแลสุขภาพตัวเองและลูกน้อยในท้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการเตรียมตัวและวางแผน เพื่อให้กำเนิดลูกน้อยได้อย่างปลอดภัยและแข็งแรงทั้งตัวลูกและคุณแม่เอง


เรียบเรียงโดย รศ.นพ.รสิก รังสิปราการ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs