bih.button.backtotop.text

ท่อน้ำตาอุดตัน...ปัญหาตาที่ต้องรักษา


ท่อน้ำตาอุดตันเป็นภาวะหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลให้มีน้ำตาไหลหรือน้ำตาคลอตลอดเวลา และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบติดเชื้อตามมาได้
 

รู้จักกายวิภาคของระบบน้ำตา

โดยปกติหางตาจะมีต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาเพื่อหล่อลื่นนัยน์ตา นัยน์ตาจึงเปรียบเสมือนห้องน้ำที่มีฝักบัวคอยพ่นหล่อลื่นน้ำให้ดวงตามีความชุ่มชื้น ส่วนบริเวณหัวตาจะมีท่อน้ำตาอยู่ 2 รู คือ รูบน ที่ขอบหนังตาบน และรูล่าง ที่บริเวณหัวตา ซึ่งท่อน้ำตาจะทำหน้าที่เป็นเหมือนรูระบายน้ำ ท่อน้ำตาเล็กๆ ทั้ง 2 รูนี้จะรวมกันเป็นท่อเดียว และเชื่อมต่อกับถุงน้ำตาซึ่งเปรียบเสมือนถังพักน้ำ จากถุงน้ำตาจะมีทางเดินน้ำตาผ่านลงมาทางกระดูกโหนกแก้มและมาเปิดที่ภายในจมูกและไหลผ่านลงคอตามลำดับ ในคนปกติที่ท่อน้ำตาไม่อุดตัน เมื่อหยอดตาจึงอาจรู้สึกขมที่คอได้
 

ท่อน้ำตาอุดตัน เด็กทารกก็เป็นได้

ในเด็กทารกส่วนใหญ่ ปัญหาของท่อน้ำตาอุดตันจะเกิดจากลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาไม่เปิด โดยมีพังผืดบางๆ มาขวางอยู่ สังเกตได้จากเด็กจะมีน้ำตาไหลมาก ตาแฉะ โดยที่ไม่ได้ร้องไห้ ซึ่งจักษุแพทย์จะทำการสอนคุณพ่อคุณแม่ให้นวดท่อน้ำตา โดยปกติ 80-90% จะหายเป็นปกติ หากไม่หายในช่วงขวบปีแรก แพทย์จะใช้วิธีการแยงท่อน้ำตา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักหายขาด แต่หากรักษาแล้วไม่ได้ผลจริงๆ แพทย์อาจต้องใช้วิธีใส่ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตา หรือหากรักษาทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดในที่สุด
 

ท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่ ปล่อยไว้อาจรุนแรง

ท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติทางกายวิภาค คือ ที่บริเวณรูท่อน้ำตา บริเวณถุงน้ำตา หรือรูบริเวณทางเดินน้ำตาที่จะผ่านไปที่โหนกแก้ม ทำให้ของเสียไม่สามารถผ่านออกไปได้ เปรียบเสมือนท่อห้องน้ำที่มีฝักบัวพ่นออกมา แต่ไม่สามารถระบายของเสียได้ ก็ทำให้เกิดการคั่งค้างของเสียอยู่บริเวณท่อน้ำตา ถุงน้ำตา และผิวดวงตา ส่งผลให้มีน้ำตาไหลตลอดเวลา ซึ่งอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานไม่ได้ ขับรถไม่ได้ ในบางรายที่เป็นมากและเรื้อรังจะมีอาการระคายเคืองตลอดเวลาจากของเสียที่ไม่สามารถระบายออกจากตาได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นฝีหนอง ซึ่งอาจลุกลามเข้าไปในดวงตา และทำให้เกิดอาการรุนแรงหรือติดเชื้อในตาได้
 

การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน

การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาตำแหน่งที่อุดตัน ซึ่งในแต่ละตำแหน่งการรักษาอาจแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การรักษาท่อน้ำตาอุดตันมักต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
  • การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันแบบดั้งเดิม (External Dacryocystorhinostomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันโดยมีแผลจากทางด้านนอก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
  • การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic Dacryocystorhinostomy) เป็นการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันผ่านทางรูจมูก โดยใช้กล้องขนาดเล็กที่เรียกว่าเอ็นโดสโคป (endoscope) ส่องผ่านเข้าไปผ่าตัดในช่องรูจมูกแคบๆ และทำทางระบายท่อน้ำตาท่อใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ไม่เกิดแผลเป็นถาวร ฟื้นตัวได้เร็วและแผลหายเร็ว แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของจักษุแพทย์เฉพาะทาง
     
 
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
 

หากมีปัญหาน้ำตาไหลตลอดเวลาหรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับนัยน์ตา อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งเกี่ยวกับตา*
 
* หมายเหตุ HealthSpot

ทำความรู้จักจักษุแพทย์ด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง

Ophthalmic Plastic and Reconstructive Specialist หรือจักษุแพทย์ด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งหรือเสริมสร้าง คือ จักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านจักษุและศัลยกรรม ในการรักษาและแก้ไขปัญหาโรคที่เกี่ยวกับเปลือกตา ท่อน้ำตา และเบ้าตา เช่น หนังตาตก ปัญหาทางเปลือกตาทุกประเภท ภาวะท่อน้ำตาอุดตันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคเนื้องอกที่เบ้าตา โรคอุบัติเหตุเบ้าตาแตกจากอุบัติเหตุ โรคตาโปนจากภาวะไทรอยด์ เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ในประเทศไทยยังมีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านเปลือกตา ท่อน้ำตา และเบ้าตา จำนวนไม่มากนัก เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Master Techniques in Ophthalmic and Reconstructive Surgery” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ให้กับจักษุแพทย์และแพทย์ที่สนใจ เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคของเปลือกตา ท่อน้ำตา และเบ้าตา พร้อมทั้งสาธิตวิธีการผ่าตัดโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคปกับอาจารย์ใหญ่ เพื่อให้จักษุแพทย์และแพทย์สาขาอื่นๆ ได้รู้จักและเข้าใจการผ่าตัดด้วยวิธีนี้  

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs