bih.button.backtotop.text

โรคลมชักในเด็ก

โรคลมชัก เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ในปัจจุบันพบว่าคนประมาณร้อยละ 0.5 – 1 มีโอกาสเกิดโรคลมชักได้ โรคลมชักเป็นโรคที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางด้านการเรียนและสังคม หากปล่อยทิ้งไว้พัฒนาการของเด็กจะยิ่งถดถอย ดังนั้นหากผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคลมชัก ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีอย่างสมวัย

สาเหตุของโรคลมชัก

โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ทำให้มีอาการชักตามมา ส่วนใหญ่จะเจอในเด็กที่มีสุขภาพปกติ มีพัฒนาการที่ดี ไม่มีปัญหาทางสมองใดๆ แต่ก็อาจเกิดจากการมีพยาธิสภาพในสมองจากหลายสาเหตุ อาการชักอาจไม่ได้หมายถึงโรคลมชักเสมอไป โดยทั่วไปอาการชักสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

  • อาการชัก (Seizure) เกิดจากการที่สมองมีการสร้างไฟฟ้าผิดปกติไปชั่วขณะ ทำให้มีอาการทางระบบประสาทชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นวินาทีหรือนาทีก็ได้ โดยอาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้หากแก้ที่สาเหตุได้ เช่น เนื้องอก โรคสมองอักเสบ การขาดวิตามิน เป็นต้น
  • อาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ (Convulsion) ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการชักแต่อาจไม่ใช่การชักเสมอไป เช่น อาการเกร็งที่อาจพบได้ในคนไข้ขณะเป็นลม เป็นต้น
  • โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าในสมองลัดวงจรอย่างถาวร ทำให้เกิดอาการชักขึ้นมาซ้ำๆโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดมากระตุ้นให้เกิดอาการ

อาการของโรคลมชักมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติที่ส่วนใดของสมองและรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางอาการสังเกตได้ยาก ทำให้ผู้ปกครองไม่ทราบว่าเด็กเป็นโรคลมชัก ดังนั้นผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตว่าเด็กมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่แย่ลงโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเด็กมีพฤติกรรมแปลกๆซ้ำๆหรือไม่ เช่น เหม่อลอย เรียกแล้วไม่รู้ตัว หัวเราะขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ หูแว่วหรือเห็นภาพหลอน เป็นต้น โดยอาการชักที่พบได้บ่อยในเด็ก คือ

  • อาการชักแบบเหม่อลอย เด็กจะมีอาการเหม่อลอยหรือนิ่งไประหว่างคุย เรียกแล้วยังไม่รู้สึกตัว ไม่มีอาการทางกล้ามเนื้อหรือมีแต่น้อยมาก เช่นกระพริบตา มักเกิดกับเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-10 ปี
  • อาการชักทั้งตัว โดยเวลาชักจะมีอาการเกร็งกระตุกโดยไม่รู้ตัวและจำไม่ได้ว่าตัวเองชัก

การวินิจฉัยโรคลมชักเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงมีความสำคัญ เพราะทำให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ นอกจากแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดแล้ว ยังมีเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยตรวจหาตำแหน่งความผิดปกติในสมองที่เป็นจุดกำเนิดชักได้อย่างแม่นยำ เช่น

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ช่วยวินิจฉัยโรคลมชัก และทำให้สามารถบอกตำแหน่งของสมองที่เกิดการชักและชนิดของการชักได้
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) ช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักได้
  • การตรวจเพทสแกน (PET Scan) ช่วยหาตำแหน่งของสมองที่อาจเป็นจุดกำเนิดของการชัก โดยใช้ข้อมูลนี้ร่วมกับการตรวจอื่นๆ
  • การตรวจสเปค (SPECT) เป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำของผู้ป่วยเพื่อหาจุดของสมองที่ทำให้เกิดโรคลมชัก

วิธีการรักษาขั้นต้นคือ การให้ยากันชักซึ่งโดยทั่วไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีหรือนานกว่านั้น และการรักษาสาเหตุของการเกิดโรคลมชักนั้นๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาจนหายขาดได้ แต่ในบางรายทำได้เพียงแค่ยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชักโดยรับประทานยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันยากันชักมีอยู่หลายชนิด ซึ่งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการชัก ผู้ป่วยร้อยละ 70 สามารถรักษาหรือควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยาและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการชัก เช่น การอดนอน นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การควบคุมอาหารแบบคีโตเจนิค ไดเอท (Ketogenic Diet) เพื่อลดอาการชักควบคู่ไปด้วย โดยส่วนใหญ่การควบคุมอาหารแบบนี้จะใช้กับเด็กที่ควบคุมอาการชักได้ยากและเมื่อการใช้ยาไม่ได้ผลเท่าที่ควร

สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจเสนอทางเลือกด้วยการใช้วิธีการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำวิธีการผ่าตัดอันทันสมัยที่เรียกว่า SEEG (Stereoelectroencephalography) มาใช้เป็นรายแรกและโรงพยาบาลเดียวในขณะนี้ของโรงพยาบาลเอกชน เป็นการผ่าตัดเพื่อฝังอิเลคโตรดเข้าไปในสมองเพื่อค้นหาจุดกำเนิดของลมชักได้อย่างแม่นยำก่อนการผ่าตัดจุดกำเนิดชักออก โดยได้ผลการผ่าตัดที่น่าพึงพอใจ

โรคลมชักที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือหาสาเหตุไม่ได้อาจป้องกันไม่ได้ แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการชักได้โดยป้องกันไม่ให้ศีรษะมีการกระทบกระเทือนรุนแรง หรือรักษาพยาธิสภาพในสมองที่เกิดขึ้นให้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองให้น้อยที่สุดสำหรับเด็กที่เป็นโรคลมชัก ผู้ปกครองควรดูแลเด็กให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ปีนที่สูง ว่ายน้ำคนเดียวหรือขี่จักรยานออกนอกถนน

นอกจากนี้ผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ให้เด็กอยู่ในท่าที่ปลอดภัยจากการชัก คือให้นอนราบกับพื้น ตะแคงศีรษะไปทางด้านข้าง
  • ห้ามนำสิ่งของใดๆเข้าไปในปากหรือพยายามงัดปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะเด็กจะยิ่งดิ้นสู้ ฟันอาจหักหรือสิ่งของอาจตกเข้าไปในคอจนเป็นอันตรายและทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
  • สังเกตอาการของเด็กและจับเวลาที่เกิดอาการชักไว้ หากเด็กหยุดชักเองภายใน 5 นาที อาจยังไม่ต้องมาพบแพทย์ทันที รอจนวันรุ่งขึ้นได้ แต่หากเด็กชักนานเกิน 5 นาทีหรือมีการชักซ้ำเกินกว่า 1 ครั้งภายในวันเดียวกัน ให้ปฐมพยาบาลเด็กสังเกตอาการของเด็กและจับเวลาที่เกิดอาการชักไว้ หากเด็กหยุดชักเองภายใน 5 นาที อาจยังไม่ต้องมาพบแพทย์ทันที รอจนวันรุ่งขึ้นได้ แต่หากเด็กชักนานเกิน 5 นาทีหรือมีการชักซ้ำเกินกว่า 1 ครั้งภายในวันเดียวกัน ให้ปฐมพยาบาลเด็กอย่างถูกต้องและพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านมากที่สุด

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.33 of 10, จากจำนวนคนโหวต 18 คน

Related Health Blogs