bih.button.backtotop.text

โรคไบโพลาร์

โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์สองแบบเปลี่ยนแปลงไปมาสลับกัน คือ อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) โรคนี้จึงมีชื่อเดิมว่า manic-depressive disorder

โรคไบโพลาร์พบได้ราวร้อยละ 2-5 ของประชากรทั่วไป โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติบ่อยกว่าอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติเพียงอย่างเดียวก็ได้

สาเหตุของโรคไบโพลาร์
ปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพลาร์เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ พันธุกรรมที่ผิดปกติทั้งที่เกิดจากการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและเกิดใหม่ช่วงเป็นทารกในครรภ์ เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ จะมีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์มากกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และจากสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้โรคแสดงอาการ รวมถึงเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน
ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใดๆ ในช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยมักเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย มองทุกอย่างในแง่ลบ บางรายมีความคิดอยากตายซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายจริงๆ ได้

          สำหรับช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้ คือ
  • รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก
  • นอนน้อยกว่าปกติมาก โดยไม่มีอาการเพลียหรือต้องการนอนเพิ่ม
  • พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่ยอมหยุด
  • ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้ามาในสมอง
  • สมาธิลดลง เปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย
  • มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี
  • การตัดสินใจเสีย เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย ไม่ยับยั้งชั่งใจในเรื่องเพศ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวจนถึงขั้นทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย เช่น คิดว่าตนมีความสามารถผิดมนุษย์ ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่อื่นไม่ได้ยินหรือได้เห็น
สำหรับช่วงเวลาขึ้น-ลงของอารมณ์นั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว อาจเป็นภายในหนึ่งวัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้
แพทย์วินิจฉัยโรคไบโพลาร์ได้จากการซักประวัติและพูดคุยกับผู้ป่วยประกอบกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตด้วยแบบสอบถาม ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากผู้ป่วยและญาติจะช่วยให้ทราบถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วย ทราบว่าผู้ป่วยมีบุคคลในครอบครัวที่เจ็บป่วยทางจิตหรือไม่ รวมถึงมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องใช้ยาหรือสารบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอาการใกล้เคียงกันหรือไม่

          สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ขึ้น-ลงผิดปกติจากคนทั่วไปจนส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงมีความผิดปกติของการรับประทานและการนอนหลับร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นอาการของโรคไบโพลาร์หรือไม่
 
โรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก โดยแพทย์จะให้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมภายในเวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์

          สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้สามารถจัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียดลง

          อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีอัตราการเป็นซ้ำสูงมากถึงร้อยละ 90 ดังนั้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีสำหรับผู้ที่เป็นครั้งแรกเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และอาจนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงของอาการในครั้งก่อนๆ
สำหรับผู้ป่วย ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ซึ่งได้แก่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
  • มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด ทำจิตใจให้สบาย
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง
  • หมั่นสังเกตอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น
  • แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบถึงอาการเริ่มแรกของโรค เพื่อให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์
 
สำหรับการปฏิบัติตัวของญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ได้แก่
  • เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของผู้ป่วย
  • ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • สังเกตุอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรคและรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น
  • ช่วยควบคุมเรื่องการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย
  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สุขภาพจิต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.67 of 10, จากจำนวนคนโหวต 57 คน

Related Health Blogs