bih.button.backtotop.text

ภาวะเรอไม่ออก (Retrograde Cricopharyngeal Dysfunction – RCPD)
จากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารทำงานผิดปกติ

ภาวะเรอไม่ออก (Retrograde Cricopharyngeal Dysfunction – RCPD) เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ค่อนข้างใหม่ มีรายงานทางการแพทย์มากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นมาแต่กำเนิด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะนี้

ปกติการเรอเป็นกระบวนการปกติของร่างกายที่ขับลมออกจากหลอดอาหารและกระเพาะเข้าสู่ลำคอ แล้วจึงออกทางปากหรือจมูก แต่ผู้ป่วยภาวะเรอไม่ออกจะไม่สามารถเรอได้เลย ทำให้มีลมสะสมในกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้องหรือหน้าอกและผายลมมาก

ภาวะเรอไม่ออกเกิดจากอะไร

ภาวะเรอไม่ออกเกิดจากประสาทที่ควบคุมการเรอของหูรูดหลอดอาหารส่วนบนทำงานไม่ดีหรือเสียไป ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารด้านบนไม่คลายตัวเพื่อให้อากาศส่วนเกินในกระเพาะอาหารและหลอดอาหารระบายออกมาได้ ส่งผลให้มีลมสะสมในกระเพาะอาหาร หลอดอาหารและลำไส้มากเกินไป
 
ภาวะเรอไม่ออกมีอาการสำคัญดังนี้
  • เรอไม่ออก
  • แน่นท้อง หรือแน่นหน้าอกในขณะที่รู้สึกอยากเรอแล้วเรอไม่ออก
  • เวลาเรอไม่ออก ลมจะเคลื่อนไหวที่หลอดอาหารด้านบน ทำให้มีเสียงครืดคราด (gurgling noise) ที่บริเวณหน้าอกด้านบนก่อนถึงคอ
  • ผายลมมากเกินไป
  • อาเจียนลำบากเนื่องจากหูรูหลอดอาหารด้านบนเปิดยาก
แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและการตรวจวัดการทำงานของหลอดอาหาร (esophageal manometry) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและแยกภาวะผิดปกติอื่นของหลอดอาหารที่ทำให้เกิดอาการเรอไม่ออก ในระหว่างการตรวจจะมีการตรวจเพิ่มเติมโดยให้ผู้ป่วยดื่มโซดาเพื่อดูว่าเวลาที่เรอมีแก๊สขึ้นมาที่หลอดอาหารแล้วหูรูดหลอดอาหารส่วนบนไม่เปิดและทำให้เกิดอาการหรือไม่
 
ภาวะเรอไม่ออกสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซิน (โบท็อกซ์) ผ่านการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนการส่องกล้องเพื่อให้ผู้ป่วยหลับและไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ หลังจากนั้นแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปยังหลอดอาหารและฉีดโบท๊อกซ์เข้าไปยังกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารด้านบนเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว หลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เหมือนการส่องกล้องในกระเพาะอาหารตามปกติ
 
ความเสี่ยงในการรักษาโดยการฉีดโบท็อกซ์ผ่านการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นมีน้อยมาก แต่หากฉีดถูกเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียง อาจทำให้เสียงแหบหรือสายเสียงทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นการรักษาจึงต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ในการรักษาด้วยการส่องกล้องฉีดโบท็อกซ์
 
ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเรอและมีอาการดีขึ้นมากภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการฉีดโบท็อกซ์เพียงครั้งเดียว มีเพียงผู้ป่วยบางรายที่ต้องฉีดโบท็อกซ์เพิ่มเติมเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากยังมีอาการอยู่บ้าง จากการติดตามผลการรักษาพบว่าการฉีดโบท็อกซ์สามารถบรรเทาอาการได้นานและผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีเมื่อติดตามไปมากกว่า 1ปี ไม่มีอาการกลับมาและไม่จำเป็นต้องฉีดโบท๊อกซ์เพิ่มเติม

ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีความชำนาญในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหารส่วนบน
และความผิดปกติของหลอดอาหาร พร้อมให้คำปรึกษาและมอบการดูแลรักษาตามความต้องการและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
 
Bastian RW, Smithson ML. OTO Open 2019 Mar 15;3 (1): 2473974X19834553
 
แก้ไขล่าสุด: 05 พฤษภาคม 2568

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร

ดูเพิ่มเติม

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs