bih.button.backtotop.text

การรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน

การรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน เป็นหัตถการที่มีการรุกล้ำร่างกายผู้รับการรักษาน้อย กระทำโดยการใส่สายสวนหลอดเลือดผ่านไปทางหลอดเลือดแดงไปยังหลอดเลือดโคโรนารีร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี เพื่อทําการขยายหลอดเลือดโคโรนารีตําแหน่งที่ตีบตันด้วยบอลลูน ซึ่งได้เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทําหัตถการร่วมกับการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด (coronary stent implantation) หรืออาจใช้วัสดุเครื่องมือแพทย์อื่นๆ เพื่อช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น

ชนิดของขดลวดค้ำยันผนังเลือดหัวใจ
ภายหลังการขยายหลอดเลือดแพทย์จะนำเอาบอลลูนออกไป การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนมีโอกาสเกิดการตีบกลับของหลอดเลือดทันที ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาการใช้ขดเลือดค้ำยันเพื่อลดการตีบกลับทันที ซึ่งชนิดของขดลวดค้ำยันผนังเลือดหัวใจ (stent) ในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ
  1. แบบที่ทำจากโลหะ (Metallic stent) และ
  2. แบบชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ (Bioresorbable scaffold system)
ขดลวดนั้นจะอยู่ในร่างกายอย่างถาวรตลอดไป ดังนั้นแบบที่ทำจากโลหะส่วนใหญ่ทำมาจาก stainless steel หรือ cobalt-chromium เนื่องจากมีความสามารถในการคงสภาพทางเชิงกล (mechanical stability) ต่อความสามารถในการหดกลับของหลอดเลือดในระยะยาวได้ดีกว่าโลหะชนิดอื่น ซึ่งขดลวดมี 2 ชนิด คือ
  1. ขดลวดธรรมดา (Bare metal stents) และ
  2. ขดลวดเคลือบยา (Drug-eluting stents)
เนื่องจากขดลวดค้ำยันถือเป็นสิ่งแปลกปลอมเมื่ออยู่ในร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองทำให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อทำให้ผนังหลอดเลือดบริเวณที่มีขดลวดค้ำยันหนาตัวขึ้นจนเกิดการตีบซ้ำในหลอดเลือด ซึ่งในชนิดขดลวดธรรมดาจะทำให้เกิดการตีบซ้ำได้มากกว่าชนิดขดลวดเคลือบยา โดยยาที่เคลือบไว้จะค่อยๆ ละลายออกมาอย่างช้าๆ เพื่อไปปิดกั้นปฏิกิริยาตอบสนองของกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของผนังหลอดเลือดในบริเวณนั้น เนื่องจากขดลวดชนิดโลหะมีโครงสร้างแข็งทำให้การหดตัวคลายตัวของหลอดเลือดไม่เป็นตามธรรมชาติ จึงได้มีวิวัฒนาการของขดลวดค้ำยันแบบชีวภาพชนิดย่อยสลายได้เกิดขึ้นซึ่งมีการเคลือบยาเช่นเดียวกัน โดยที่ยาจะค่อยๆ ละลายและโครงค้ำยันจะสลายตัวภายใน 2-3 ปี แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้งานหลายประการเมื่อเปรียบเทียบกับขดลวดที่เป็นโลหะ จึงทำให้ความนิยมใช้ในสถานพยาบาลบางแห่งลดลง กรณีสงสัยให้สอบถามข้อมูลจากแพทย์ผู้รักษา
วัตถุประสงค์ของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนคือเพื่อดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น เมื่อเลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง หายใจได้เต็มที่ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการลดการตีบกลับทันที รักษาการฉีกขาดของหลอดเลือด ช่วยลดอัตราการตีบซ้ำและป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดได้
 
ความเสี่ยงจากกระบวนการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด ได้แก่
  • มีเลือดออก ติดเชื้อและปวดบริเวณที่ใส่สายสวน
  • เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือเส้นเลือดในสมองตีบ
  • หลอดเลือดเกิดตีบขึ้นใหม่
  • หลอดเลือดได้รับความเสียหาย
  • แพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในกระบวนการ
  • ไตมีปัญหาจากการขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย
  • มีของเหลวคั่งรอบหัวใจ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เสียชีวิต
 
โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้
  • วิงเวียนศีรษะ
  • หายใจติดขัด
  • คลื่นไส้
  • ปวดหลัง
  • แน่นหน้าอก
  • จุดที่ใส่สายสวนมีเลือดออก เกิดรอยช้ำขึ้นใหม่ หรือบวม
  • มีอาการที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อ เช่น แผลแดง มีน้ำเหลืองหรือมีไข้
แพทย์จะอธิบายถึงอัตราการเสี่ยงและผลดีผลเสีย โอกาสสำเร็จจากการทำหัตถการ กรณีสงสัยควรปรึกษาแพทย์
 
หากไม่ทำหัตถการนี้จะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอจะขาดออกซิเจนและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงาน มีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดได้ หากหลอดเลือดหัวใจอุดตันอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
 
 

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบซับซ้อน

ดูเพิ่มเติม

Related Packages

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs