You're been inactive for a while. For security reason, we'll automatically sign you out from our website. Please Click "Login" to extend your session
ตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย ผลการตรวจ กำหนดการนัด และอื่นๆ
ยังไม่มีบัญชี? Create Account
ติดตามข่าวสารล่าสุด และ นัดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้ทันที
มีบัญชีอยู่แล้ว? Log In
การผ่าตัด Fontan’s Operation
Fontan’s Operation (การผ่าตัดฟอนแทนหรือการผ่าตัดทำทางเดินเส้นเลือดใหม่) คือ การผ่าตัดแบบประคับประคองเพื่อรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดประเภท “โรคหัวใจพิการจากหัวใจห้องล่างทำงานห้องเดียว” ซึ่งเป็นกลุ่มของโรคหัวใจพิการชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะอาการของโรคแตกต่างกันไป แต่จะมีลักษณะที่เด่นชัดร่วมกันคือ หัวใจห้องล่างจะมีขนาดที่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้เพียงห้องเดียว ความพิการทางหัวใจเหล่านี้ได้แก่ ลิ้นหัวใจระหว่างห้องบนและห้องล่างขวาตีบตัน (tricuspid atresia) กลุ่มอาการหัวใจด้านขวาเจริญพร่อง (hypoplastic right heart syndrome) และหัวใจห้องล่างซ้ายมีทางเข้า 2 ช่อง (double inlet left ventricle) โดยทั่วไปความพิการทางหัวใจเหล่านี้จะใช้การผ่าตัดสร้างเสริมหลายๆ ระยะจนในที่สุดเกิดเป็น “การไหลเวียนกระแสเลือดแบบฟอนแทน” (Fontan circulation) ในหัวใจที่เป็นปกติทั่วไป หัวใจห้องล่างแต่ละห้องทำหน้าที่แยกจากกัน หัวใจห้องล่างขวาจะสูบฉีดเลือดไปฟอกที่ปอดและหัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ในหัวใจที่มีห้องล่างทำงานเพียงห้องเดียว จะมีหัวใจห้องล่างเพียงหนึ่งห้องที่มีขนาดโตพอที่จะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดตามปกติได้ ซึ่งจะมีภาระที่หนักขึ้นคือการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ส่วนการพาเลือดไปฟอกที่ปอดจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการสูบฉีดเลือดจากหัวใจ การผ่าตัดหลากหลายรูปแบบอาจมีความจำเป็นในการบรรลุจุดประสงค์นี้โดยขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและความจำเป็นของผู้ป่วย ประเภทของการผ่าตัดค่อนข้างผันแปรตามลักษณะความพิการของหัวใจ โดยทั่วไปแล้วจะใช้การผ่าตัด 3 ครั้งเพื่อทำให้เกิดเป็นการไหลเวียนกระแสเลือดแบบฟอนแทน โดยปกติการผ่าตัดครั้งแรกจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังการคลอดซึ่งจะเป็นการปรับปริมาณของเลือดที่ไปฟอกที่ปอดให้เหมาะสม ถ้าเลือดที่ไปปอดมีมากเกินไปจะใช้สายรัดรอบๆ หลอดเลือดแดงไปปอดเพื่อควบคุมปริมาณการไหลของเลือดและป้องกันการเกิดภาวะความดันสูงในปอด วิธีการนี้เรียกว่า “การผ่าตัดผูกรัดหลอดเลือดแดงไปปอด” (pulmonary artery banding) ถ้าในกรณีที่มีเลือดไปฟอกที่ปอดไม่เพียงพอจะใช้การผ่าตัดด้วยวิธี Blalock-Taussig Shunt โดยใช้หลอดเลือดของผู้ป่วยเองหรือใช้เส้นเลือดเทียมทำจากวัสดุสังเคราะห์ต่อเชื่อมระหว่างแขนงหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า (แขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่) และหลอดเลือดแดงไปปอด การผ่าตัดในครั้งถัดไปจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 4-12 เดือน เรียกว่า Glenn operation หรือ hemi-Fontan โดยตัดหลอดเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดเสียจากส่วนศีรษะและส่วนบนของร่างกายกลับสู่หัวใจออกแล้วนำไปเย็บต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงไปปอด เส้นเลือดเทียมและสายรัดที่ใส่ไว้ในการผ่าตัดครั้งก่อนอาจถูกถอดออกไปในครั้งนี้ การผ่าตัดในครั้งที่สามซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เรียกว่า Fontan completion operation ซึ่งโดยปกติจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี ในระหว่างการผ่าตัดนี้ หลอดเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดเสียจากส่วนล่างของร่างกายกลับสู่หัวใจจะถูกตัดต่อเชื่อมเข้ากับหลอดเลือดแดงไปปอด ซึ่งก่อนหน้านี้เลือดส่วนนี้ไม่ได้ผ่านการฟอกที่ปอดและถูกสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายเป็นผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำกว่าปกติ เทคนิคการผ่าตัดในขั้นตอนของ Fontan completion operation ที่ใช้กันมากที่สุด 2 แบบคือ เทคนิคแบบ lateral tunnel และเทคนิคแบบ extra-cardiac ในกรณีของวิธี lateral tunnel นั้นจะใช้ผนังเทียมแผ่นรูปทรงคล้ายอุโมงค์เย็บติดไว้ภายในหัวใจห้องบนขวาบริเวณผนังด้านข้างแล้วเชื่อมต่อกับหลอดเลือดแดงไปปอดเพื่อเป็นทางเดินของเลือดเสียที่มาจากหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนล่างเข้าสู่หลอดเลือดแดงไปปอด ส่วนวิธี extra-cardiac นั้นจะเชื่อมต่อหลอดสังเคราะห์เข้ากับด้านบนของหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนล่าง และเย็บต่อหลอดสังเคราะห์อีกปลายหนึ่งเข้ากับหลอดเลือดแดงไปปอด ทำให้เกิดเป็นเส้นทางเดินเลือดด้านนอกหัวใจ
Related conditions
Doctors Related
Related Centers
โทรเพื่อทำการนัดหมาย
ติดต่อสอบถาม
นัดหมายแพทย์