bih.button.backtotop.text

ตรวจความผิดปกติโพรงมดลูกด้วยเทคโนโลยีส่องกล้อง “สะดวก แม่นยำ ปลอดภัย”

การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก ( Office Hysteroscopy ) 

การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็กเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติในโพรงมดลูกเป็นเรื่องที่สะดวก แม่นยำ เจ็บปวดน้อยและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น 
 

ขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยมีอย่างไรบ้าง

คล้ายคลึงกับการตรวจภายใน โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยขึ้นนอนที่ขาหยั่งและใส่น้ำเกลือดันเข้าไปในช่องคลอดเพื่อให้มองเห็นปากมดลูก หลังจากนั้นแพทย์จะค่อยๆส่องกล้องขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเพื่อให้เห็นความผิดปกติภายในโพรงมดลูก การตรวจใช้เวลาประมาณ 10 นาที หากพบความผิดปกติ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาและวางแผนการรักษาต่อไป


ใช้วินิจฉัยอาการใดได้บ้าง

วิธีการตรวจวินิจฉัยนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในโพรงมดลูก เช่น
  • สงสัยว่ามีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้องอก
  • มีเลือดออกผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สงสัยว่าเป็นมะเร็งในโพรงมดลูก
  • วินิจฉัยภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์อาจตรวจโพรงมดลูกก่อนที่จะนำตัวอ่อนเข้าไปฝังเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพโพรงมดลูกไม่มีความผิดปกติที่ขัดขวางโอกาสการฝังตัวของตัวอ่อน

Office Hysteroscopy ตรวจความผิดปกติโพรงมดลูกด้วยเทคโนโลยีส่องกล้อง


ข้อดีของการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก (Office Hysteroscopy)

การตรวจโพรงมดลูกสามารถทำด้วยวิธีการอื่นได้ เช่น การขูดมดลูกหรือการใช้ท่อเล็กๆเข้าไปดูดเซลล์เพื่อนำไปตรวจ ซึ่งวิธีการเหล่านี้แพทย์ไม่สามารถมองเห็นพยาธิสภาพของโพรงมดลูกได้โดยตรง ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งแพทย์สามารถเห็นภาพความผิดปกติได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อได้ตรงกับตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธีการนี้ยังสะดวกสบายและมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกแบบปกติ (Hysteroscopy) เพราะผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือดมยาสลบก่อนการส่องกล้อง
 

ใครที่ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้

การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือขนาดเล็กนี้ ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้
  • กำลังมีประจำเดือน
  • กำลังตั้งครรภ์
  • มีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานหรือท่อนำไข่


ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ แพทย์อาจให้ยาอมใต้ลิ้นเพื่อให้ปากมดลูกขยายตัวประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ


ควรดูแลตนเองหลังการตรวจอย่างไร

ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติหลังการตรวจ


มีผลข้างเคียงในการตรวจหรือไม่

ผลข้างเคียงพบได้น้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้ เช่นการอักเสบติดเชื้อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือท่อนำไข่อยู่แล้ว


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs