บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักวิตกกังวลว่าลูกตัวเตี้ยกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เกรงว่าลูกจะผิดปกติและสูงไม่เท่ากับเพื่อนคนอื่นๆ บทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะเด็กตัวเตี้ยว่าอย่างไรถึงเรียกว่าเตี้ย รวมถึงอธิบายสาเหตุและวิธีการรักษา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและเลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตได้อย่างมีความสุข
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจว่าภาวะเด็กตัวเตี้ยหมายถึงอะไร โดยทั่วไปแล้วเด็กตัวเตี้ยในความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่กับในทางการแพทย์มักไม่เหมือนกัน ในทางการแพทย์
เด็กตัวเตี้ย หมายถึง เด็กที่มีความสูงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กที่เพศและอายุเดียวกันมากกว่า 2 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation; SD) ซึ่งสามารถทราบได้โดยดูจากกราฟแสดงการเจริญเติบโต (growth chart) และในกรณีที่แพทย์ต้องการวินิจฉัยเพิ่มเติมอาจพิจารณาร่วมกับการเอกซเรย์กระดูก
กราฟแสดงการเจริญเติบโตนี้จะแสดงให้เห็นว่าเด็กมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือมีการเจริญเติบโตที่ลดลงหรือหยุดโตหรือไม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาพบกุมารแพทย์ ควรนำกราฟแสดงการเจริญเติบโตในช่วงที่ผ่านมามาด้วย เพราะแพทย์จำเป็นต้องดูอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการดูค่าการเจริญเติบโตเพียงจุดเดียวไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเด็กมีการเจริญเติบโตปกติหรือผิดปกติหรือไม่
สำหรับการเอกซเรย์กระดูก จะทำโดยเอกซเรย์มือ แพทย์จะใช้ในการวินิจฉัยเพื่อดูอายุกระดูกว่าอายุกระดูกใกล้เคียงกับอายุจริง หรือเจริญช้ากว่าหรือเร็วกว่าอายุจริงหรือไม่ ซึ่งจะช่วยประเมินได้ว่าเด็กมีความผิดปกติหรือไม่ และยังสามารถใช้คาดคะเนความสูงสุดท้ายเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อีกด้วย
โดยทั่วไปการเจริญเติบโตปกติของเด็กจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ
- ช่วงแรกเกิด (อายุ 0-2 ขวบ) การเจริญเติบโตจะอยู่ระหว่าง 30-35 ซม.
- ช่วงวัยเด็ก อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5-7 ซม./ปี
- ช่วงวัยรุ่น/วัยเจริญพันธุ์ อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 8-14 ซม./ปี
สาเหตุของเด็กตัวเตี้ยมีได้หลายประการ แต่โดยส่วนใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาพบแพทย์มักมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ (familial short stature) หรือเป็นกลุ่มโตช้าหรือที่เรียกกันว่าเตี้ยในแบบม้าตีนปลาย (constitutional delayed of growth and puberty) ซึ่งทั้งสองสาเหตุนี้ไม่จัดเป็นความผิดปกติ ถ้าแพทย์ทำการตรวจแล้วพบว่าเด็กเจริญเติบโตและแข็งแรงดีก็ไม่ต้องทำการรักษาอะไร
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจต้องพิจารณาทำการรักษา ได้แก่
- ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วกว่าปกติ คือ เด็กหญิงเริ่มเป็นสาวก่อน 7-8 ขวบ (มีหน้าอก มีประจำเดือน) ส่วนเด็กชายเริ่มเป็นหนุ่มก่อน 9 ขวบ (มีขน มีสิว มีกลิ่นตัว เสียงแตก สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว) ซึ่งกรณีนี้ฮอร์โมนเพศมีผลทำให้เด็กสูงเร็วในช่วงแรก หลังจากเมื่อเข้าภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็จะหยุดสูงในทันที
- ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ
- ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) เป็นภาวะที่ต้องรีบหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนและรีบทำการรักษา
- ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- ขาดวิตามินดี (vitamin D deficiency rickets) หรือวิตามินดีทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
- สาเหตุอื่นๆ
- เตี้ยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ขาดสารอาหาร
- เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคไต โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
ทั้งนี้
การรักษาภาวะเด็กตัวเตี้ย โดยทั่วไปแพทย์จะใ
ห้การรักษาตามสาเหตุของแต่ละบุคคล ขึ้นกับว่าสาเหตุที่ทำให้เตี้ยนั้นเกิดจากอะไร เช่น การฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) การให้ยาหยุดความเป็นหนุ่มเป็นสาว การให้ไทรอยด์ฮอร์โมน การให้วิตามินดี เป็นต้น อย่างไรก็ดี
การรักษาภาวะเด็กตัวเตี้ยจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตจำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น
ในส่วนของคุณพ่อคุณแม่ที่สามารถทำได้เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกคือ การให้ลูกได้รับอาหารที่เพียงพอและครบทุกหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเจริญเติบโตให้ปรึกษากุมารแพทย์ บางกรณีคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกตัวเล็กกว่าเพื่อนแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติอะไรและสุขภาพก็แข็งแรงดี ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตอกย้ำเรื่องส่วนสูงมากนัก เพราะเด็กจะกังวลและรู้สึกเป็นปมด้อยไปด้วย เด็กแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน ควรช่วยชี้แนะมองหาจุดแข็งของลูกและส่งเสริมลูกในด้านนั้นๆ เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรงและมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: