bih.button.backtotop.text

“ปวดหลัง” ในมุมมองใหม่

02 ตุลาคม 2555

 

“ปวดหลัง” เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเพาะเจาะจงเพศหรือกลุ่มอายุ หลายคนมักคิดว่าต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลังมีเพียง 20% เท่านั้นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด อีก 80% สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับอาการปวดหลังที่หลายคนมักเข้าใจผิด มาเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับอาการปวดหลัง เพื่อให้สามารถป้องกันและรับมือได้หากเกิดอาการ
 
กระดูกสันหลังเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักตัว แบ่งออกเป็นกระดูกส่วนคอ ส่วนอก และส่วนเอว กระดูกสันหลังแต่ละปล้องประกอบด้วยกระดูกข้อต่อ 2 ชิ้นและมีหมอนรองกระดูกสันหลังคั่นระหว่างกระดูกแต่ละปล้อง โดยส่วนใหญ่ปัญหาของอาการปวดหลังมักเกิดขึ้นที่กระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 5 ปล้อง โดยปัญหาหนึ่งที่มักพบได้บ่อย คือ หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวปล้องที่ 4-5
 
เมื่อพูดถึงหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท อาจมีใครหลายๆ คนกลัวที่จะเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะการผ่าตัด เพราะเคยได้ยินมาว่าอาจทำให้เกิดอัมพาต ซึ่งแท้จริงแล้วอาการรุนแรงที่อาจเกิดได้มีเพียงการกระดกปลายเท้าไม่ขึ้น มีอาการชาและอ่อนแรงของปลายเท้า เนื่องจากการกระดกปลายเท้าถูกควบคุมโดยเส้นประสาทสมองเส้นที่ 4-5 ในขณะที่เส้นประสาทไขสันหลังที่ต่อจากสมองนั้นสิ้นสุดที่กระดูกสันหลังปล้องที่ 1-2 เท่านั้น จึงไม่สามารถทำให้เกิดอัมพาตได้     
 
อาการหลักของหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมีเพียง 3 อาการเท่านั้น คือ ปวดหลัง ชา และอ่อนแรง โดยอาการปวดจะเป็นลักษณะปวดแปลบ ร้าวลงไปที่ขาและก้น ซึ่งอาการนี้มีความสำคัญมากต่อการวินิจฉัยของแพทย์ หากผู้ป่วยสามารถบอกตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน ก็จะทำให้แพทย์ทราบว่าอาการนั้นเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังบริเวณใด เช่น ถ้ามีอาการปวดร้าวมาที่ต้นขา แพทย์อาจสงสัยความผิดปกติที่กระดูกสันหลังปล้องที่ 3 และ 4 ถ้ามีอาการปวดร้าวลงไปถึงเท้าหรือปลายเท้า แพทย์อาจสงสัยความผิดปกติที่กระดูกสันหลัง 2 ปล้องสุดท้าย เป็นต้น
 
อาการปวดของหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทเกิดได้เพียง 2 สาเหตุ คือ ปวดจากปฏิกิริยาเคมี เกิดจากการระคายเคืองของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ยื่นออกมาไม่มากนัก การปวดในลักษณะนี้ สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้โดยยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด ซึ่งแตกต่างจากการปวดจากกลไกทางกลศาสตร์ ที่เกิดจากการมีปริมาณหมอนรองกระดูกสันหลังยื่นออกมามาก ทำให้เกิดการหนีบเส้นประสาท ถ้าเป็นลักษณะนี้การใช้ยาจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัด ทั้งนี้เมื่อมีหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทจะมี 2 สาเหตุนี้ปนกันอยู่เสมอ ดังนั้นหากมีอาการปวดเกิดขึ้น แพทย์อาจวินิจฉัยและรักษาโดยให้รับประทานยาหรือฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการปวดก่อน ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายหลังได้รับยา 3-4 วัน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง 80% สามารถหายได้จากการใช้ยา มีเพียง 20% เท่านั้นที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัด 
 
เมื่อไปพบแพทย์ ผู้ป่วยที่ปวดหลังมักคิดว่าจำเป็นต้องทำ MRI หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญต่อการวินิจฉัยคือการซักประวัติ โดยข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่ ปวดมานานแค่ไหน มีอาการปวดบริเวณใด มีอาการปวดร้าวหรือไม่ ร้าวลงถึงบริเวณใด และอาการปวดสัมพันธ์กับอะไรบ้าง เช่น ปวดเวลาตื่นนอนตอนเช้า ปวดเมื่อลุกขึ้นยืนภายหลังจากการนั่งนานๆ ยืนยืดหลังตรงไม่ได้ ยิ่งเดินยิ่งปวด เป็นต้น หลังจากนั้นแพทย์จึงจะทำการตรวจร่างกายว่ามีอาการชาหรืออ่อนแรงหรือไม่ แล้วจึงทำการประเมินผลและพิจารณาว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยมีโอกาสหายโดยไม่ต้องผ่าตัด อาจได้รับการรักษาโดยการให้ยา
 
สำหรับการทำ MRI แพทย์จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัด หรือต้องได้รับการฉีดยาเพื่อใช้ในการวินิจฉัย หรือมีข้อบ่งชี้ เช่น รักษาโดยยารับประทานแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น โดย MRI จะเปรียบเสมือนแผนที่ช่วยให้แพทย์เห็นภาพได้ชัด สามารถทำให้แพทย์เลี่ยงเส้นประสาทและทำการผ่าตัดหรือรักษาเฉพาะบริเวณที่ต้องการได้
 
ทั้งนี้ในคนที่มีอาการปวดหลังหรือแม้จะยังไม่มีอาการ สามารถช่วยไม่ให้หลังบาดเจ็บมากขึ้นหรือป้องกันอาการปวดหลังได้จากการปรับเปลี่ยนอิริยาบถในชีวิตประจำวันให้ถูกวิธี
 

เคล็ดลับป้องกันปวดหลัง

  • การลุก-นั่งเก้าอี้ การลุกนั่งของคนเราปกติจะทำให้เกิดแรงกดต่อกระดูกสันหลังทั้งหมด 3 ครั้ง คือ เมื่อโน้มตัวจะลุก เมื่อกระดกก้นขึ้นจากเก้าอี้ และเมื่อลุกขึ้น ในคนที่อายุมากขึ้น เมื่อลุกนั่งจากเก้าอี้จะโน้มตัวมาข้างหน้ามากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อหลังได้ ดังนั้นท่าลุกนั่งจากเก้าอี้ที่ไม่ทำอันตรายและทำให้ปวดหลังน้อยที่สุดมีอยู่ 2 วิธี คือ
    • วิธีแรก สไลด์ตัวเข้าเก้าอี้ทางด้านข้างแล้วนั่ง โดยหลังจะยังคงตรงอยู่ และไม่มีการโน้มตัวมาข้างหน้า เมื่อจะลุกจากเก้าอี้ ก็สไลด์ตัวออกทางด้านข้างเช่นกัน
    • วิธีที่สอง เป็นวิธีที่ง่ายกว่าวิธีแรก เมื่อจะนั่ง ให้หันหน้าเข้าหาเก้าอี้และคิดว่าจะลงบันได โดยมองลงข้างล่างแล้วก้าวเท้าข้างที่ติดกับเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้าโดยให้หลังยังคงตรงอยู่เพื่อนั่งลงบนเก้าอี้ จากนั้นพลิกตัวนั่งให้เต็มเก้าอี้ เมื่อจะลุก หันตัวออกในท่าเตรียมพร้อม จากนั้นคิดว่าจะขึ้นบันได ตามองขึ้นด้านบน แล้วใช้เท้าด้านหลังดันตัวขึ้น
  • การขึ้น-ลงจากเตียง ในคนที่มีอาการปวดหลัง ก่อนลงจากเตียงควรทำการยืดขยายหลังหรือ stretching exercise ในท่านอนหงายก่อน โดยการงอขาแล้วดึงเข่ามากอดที่อก ทำทีละข้าง หลังจากบริหารด้วยท่าแรกเสร็จแล้ว ให้นอนพลิกสะโพกไปทางด้านซ้ายและด้านขวาสลับกัน เพื่อเป็นการบริหารหลังและป้องกันการบาดเจ็บ แล้วจึงลงจากเตียง


 
    • การขึ้นเตียง ท่าที่ทำให้บาดเจ็บน้อยที่สุดคือ การคลานขึ้นบนเตียง เมื่อถึงที่หมาย ให้นอนคว่ำลงไปก่อนแล้วจึงพลิกตัว
    • การลงจากเตียง ให้อยู่ในท่านอนคว่ำแล้วค่อยๆ ถอยตัวลงจากเตียง พยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ
  • การใส่เสื้อพยุงหลังให้ถูกวิธี ในคนที่ปวดหลังมากๆ และใส่เสื้อพยุงหลังควรใส่เสื้อให้ถูกวิธีโดยยกขาขึ้นตั้งฉากกับลำตัวหนึ่งข้าง หากไม่มีแรงให้ใช้เข่าพาดตรงเก้าอี้ เพื่อให้เกิดรอยพับระหว่างต้นขากับสะโพก ซึ่งตำแหน่งนี้จะเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของการใส่เสื้อพยุงหลัง เมื่อใส่เสื้อพยุงหลังจะสามารถครอบคลุมบริเวณที่ต้องการให้ขยับน้อยที่สุด แต่ถ้าใส่เสื้อพยุงหลังโดยไม่ยกขาขึ้น จะทำให้เสื้อพยุงหลังไม่ครอบคลุมถึงบริเวณส่วนล่าง ซึ่งทำให้กระดูกไม่อยู่นิ่ง เมื่อมีการขยับขา กระดูกจะมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสปวดหลังมากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “ปวดหลังในมุมมองใหม่” โดยนายแพทย์นันทเดช หิรัณยัษฐิติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs