จำเป็นแค่ไหน? การยึดโลหะในการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูก
ทำไมการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกบางครั้งหมอถึงแนะนำให้ยึดเหล็กเข้าไปด้วย หมอพิจารณาจากอะไร ข้อดีข้อเสียระยะสั้นระยะยาวเป็นอย่างไร หากคุณกำลังหนักใจกับคำถามเหล่านี้อยู่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณครับ
หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทับเส้นประสาทคืออะไร
หมอนรองกระดูกสันหลังคืออวัยวะที่มีความยืดหยุ่น ทำให้กระดูกสันหลังสามารถก้ม แอ่นหรือเอียง ไปมาได้ เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือการยกของหนักในท่าที่ไม่เหมาะสมบ่อยๆเปลือกด้านนอก อาจฉีกขาดและทำให้ของหมอนรองนุ่มๆ ที่อยู่ด้านในฉีกขาดและหลุดออกมาภายนอกได้ จนทำให้สัมผัส กับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ๆ ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรงที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือจะมีการเคลื่อนตัวร้าวลงไป จากบริเวณเอว สะโพกจนถึงกล้ามเนื้อขาหรือเท้า อาการมักจะเด่นชัดมากขึ้นเมื่อนั่งนานๆ หรือมีการก้มตัวลงไป ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ก้มตัวลงไปแปรงฟัน, ใส่กางเกง หรือผูกเชือกรองเท้า แม้กระทั่งการหัวเราะดังๆ ไอ จามก็อาจกระตุ้นให้อาการปวดรุนแรงขึ้นได้
เมื่อไรจึงจำเป็นต้องผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง
โรคหมอนรองกระดูกส่วนใหญ่แล้วเมื่อเป็นแล้วสามารถหายได้เองตามธรรมชาติในรายที่รักษาด้วยวิธี กายภาพบำบัดหรือรับประทานยาแล้วอาการไม่ทุเลาก็สามารถใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทในการรักษาได้ ผู้ป่วยส่วนน้อยที่หมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทมีขนาดใหญ่มากหรือเริ่มมีอาการอ่อนแรงของ กล้ามเนื้อแล้วจึงค่อยพิจารณาการผ่าตัดส่องกล้องเป็นลำดับสุดท้าย
เมื่ออาการปวดเกิดจากหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือ การเข้าไปหยิบเอาสิ่งที่ฉีกขาดออกมา เพื่อให้เส้นประสาทพ้นจากการถูกกดทับ การผ่าตัดในยุคปัจจุบันเรามักใช้ กล้องเอ็นโดสโคปที่มีขนาดราวๆ ปลายนิ้วก้อยสอดผ่านช่องว่างตามธรรมชาติของกระดูกสันหลังโดยไม่จำเป็น ต้องเปิดแผลใหญ่อีกต่อไป การฟื้นตัวจากการผ่าตัดจึงรวดเร็วและสามารถออกจากรพ.ได้ในวันถัดไป
โรคหมอนรองกระดูกผ่าตัดแล้วก็ยังเป็นซ้ำได้
การผ่าตัดแพทย์จะนำหมอนรองกระดูกชิ้นที่ฉีกขาดแล้วออกไป คงเหลือไว้แต่ส่วนที่ยังปกติ ดังนั้นหากมี การบาดเจ็บซ้ำ ส่วนที่เหลือนี้ยังสามารถฉีกขาดและปลิ้นออกมา และเกิดอาการซ้ำได้อีก ซึ่งจากสถิติแล้วเราพบได้ ประมาณ 6-10 เปอร์เซ็นต์
การใส่โลหะช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอย่างไร
สภาพกระดูกสันหลังแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากมีสภาพที่เสื่อมมากหรือข้อต่อกระดูกสันหลังเริ่มหลวมแล้ว โอกาสที่หมอนรองกระดูกจะฉีดขาดซ้ำย่อมมีมากกว่าเดิม โดยทั่วไปหากจำเป็นต้องมีการผ่าตัดครั้งที่สองหรือใน ภาพเอกซเรย์ และ
MRI แสดงให้เห็นว่าข้อต่อจุดนั้นหลวมไม่แข็งแรง การใช้อุปกรณ์โลหะยึดไว้รวมกับ การเชื่อมกระดูกนั้นจะเพิ่มโอกาสสำเร็จ เพราะจุดที่ใส่โลหะยึดไว้ หมอนรองกระดูกจะไม่สามารถ ฉีกขาดหรือปลิ้นออกมาได้อีกแล้ว
ผลเสียระยะสั้นและระยะยาวของการยึดโลหะ
ความแตกต่างในระยะสั้นระหว่างการมีการยึดโลหะหรือไม่ก็คือความรู้สึกเจ็บแผลหลังผ่าตัด แผลจาก การส่องกล้องเพียงอย่างเดียวมักมีขนาดราวๆ ปลายนิ้วก้อย แต่หากมีการยึดโลหะด้วยอุปกรณ์รุ่นล่าสุด แม้ว่า ขนาดของแผลจะมีขนาดราวๆ 3-4 เซ็นติเมตรเพื่อให้สามารถสอดอุปกรณ์โลหะมุดเข้าไปประกอบกันใต้ผิวหนังได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกถึงอาการเจ็บได้มากกว่าการส่องกล้องเอ็นโดสโคปอยู่ดีในระยะแรกๆ ที่แผลยังไม่หายดี
ส่วนในระยะยาว การยึดโลหะจะทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นหยุดเคลื่อนไหวไป เท่ากับว่ากระดูกสันหลังข้ออื่นที่เหลือ ก็จะต้องทำงานเพิ่มขึ้นทดแทนจุดที่หยุดทำงานไป กระดูกข้อที่เหลือเหล่านั้นก็จะเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้นกว่าสภาวะ ปกติ อย่างไรก็ดีการเชื่อมข้อกระดูกเพียงข้อเดียวมักไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งานในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงมีความสุขกับการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ นอกจากนั้นหากก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยเคยมีอาการปวดหลังเรื้อรังจากข้อกระดูกที่หลวมหรือเสื่อมสภาพมาก การยึดโลหะก็จะทำให้ อาการปวดส่วนนี้ดีขึ้นได้อีกด้วย
ความเสี่ยงของการยึดโลหะ
การยึดโลหะในกระดูกสันหลังเป็นสิ่งที่ทำอย่างแพร่หลายมากสำหรับศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ในมือของผู้เชี่ยวชาญนั้นโอกาสสำเร็จมีมากกว่า 90เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ที่สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ นอกจากศัลยแพทย์ทุกคนจะมีประสบการณ์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังมามากกว่าสิบปีขึ้นไป เรายังใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีสร้างภาพสามมิติในการช่วยเล็งทำให้ได้ความแม่นยำเพิ่มขึ้นถึง 99.8เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการสแกนทุกครั้งก่อนออกจากห้องผ่าตัดเพื่อให้มั่นใจทุกครั้งว่าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ
สรุปใน 3คำ “ไม่จำเป็น” แต่..
ถ้าเราพูดถึงการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยทั่วไปแล้วการยึดโลหะแทบไม่มี ความจำเป็นเลยเพราะโอกาสในการเกิดซ้ำมีน้อย จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างที่ข้อกระดูกมีการหลวมเคลื่อนแล้ว หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรังมาแต่เดิมจากการที่หมอนรองกระดูกจุดนั้นเสื่อมสภาพมากด้วย แต่อย่างไรก็ดียังมีโรคกระดูกสันหลังอีกหลายชนิดที่การยึดโลหะเป็นหัวใจสำคัญของการผ่าตัดชนิดที่ว่า ขาดไม่ได้เลย เอาไว้ในโอกาสหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังกันแบบเข้าใจง่ายๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยทำให้ความปลอดภัยสมัยนี้แตกต่างไปจากสมัยก่อนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือด้วยนะครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
หมอเข้ม หรือ
น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ.บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AOspine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: