bih.button.backtotop.text

โรคสมองเสื่อม FTD (Frontotemporal Dementia)

20 มีนาคม 2566

วิดีโอนีเราจะคุยกันถึง โรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่หลายท่านเริ่มรู้จัก ได้ยินได้ฟังมาบ้าง คือ Frontotemporal dementia หรือ FTD ซึ่งโรคนี้จะต่างจากอัลไซเมอร์ในหลายส่วน คือพบได้น้อยกว่า เริ่มมีอาการเร็วกว่า และมีอาการหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน

โรคสมองเสื่อม FTD ยังแบ่งเป็นชนิดย่อยอีกหลายชนิด แบบที่พบได้มากสุดคือ ชนิดพฤติกรรม (behavioral varient) ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรม และบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาหลายปี จนบางคนอาจจะเหมือนไม่ใช่คนๆเดิม

ในผู้ป่วย FTD ชนิดภาษา (language varient) จะมีอาการเด่นเรื่อง การใช้ภาษา คำพูด จะบกพร่องจากเดิม นึกคำไม่ออก พูดตะกุกตะกัก แต่ความคิดความจำ ละการทำงานสมองด้านอื่นจะยังไม่เปลี่ยน

FTD อาจพบอาการร่วม ทั้งสมองเสื่อม และเส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อมด้วย (FTD-ALS) ทำให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวลำบาก มีอาการเกร็ง อ่อนแรง ลิ้นแข็ง การกลืนผิดปกติ

เราจะเห็นได้ว่า ลักษณะสำคัญของ FTD ที่ต่างจากอัลไซเมอร์ คือ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการหลงลืมตั้งแต่แรกๆ 

การวินิจฉัย โรค FTD นอกจากอาศัยประวัติ ตรวจทางระบบประสาท และแบบทดสอบทางระบบประสาทจิตวิทยาแล้ว เราอาจเลือกใช้เครื่องมือพิเศษ คือ การทำภาพรังสีดูการทำงานของสมอง และ ตรวจหายีนที่สัมพันธ์กับการเกิด FTD 

เนื่องจากผู้ป่วย FTD เฉลี่ยแล้วเริ่มมีอาการที่ช่วงอายุน้อย คือผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยกลางคน ในช่วงที่เพิ่งเริ่มมีอาการอาจทำให้แยกโรคได้ยากจากโรคด้านอารมณ์ในทางจิตเวช ในกรณีนี้การตรวจหายีนของ FTD อาจได้ประโยชน์ เพื่อบ่งบอกความเสี่ยงที่จะเกิดโรค FTD เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ในช่วงที่เพิ่งเริ่มมีอาการ อาจยังไม่ไวพอที่จะพบความผิดปกติ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคนี้หายขาดได้ แต่ก็มีการบำบัดดูแลด้านอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนลดภาวะแทรกซ้อนของโรค อาทิ พฤติกรรมบำบัด การฝึกพูด และยาที่ช่วยปรับอารมณ์พฤติกรรมของผู้ป่วย  และสุดท้าย ความเข้าใจในตัวโรคและการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ค่ะ


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs