bih.button.backtotop.text

ยารักษาที่จำเพาะ… ตรงโรค ตรงคน ตรงรหัสพันธุกรรม

11 มิถุนายน 2561

หากคุณพบว่าตัวเองใช้ยาบางชนิดแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง อาจเป็นไปได้ว่าสาเหตุเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรมของคุณเองที่ไม่ตอบสนองต่อยา
 

 

รู้จักกับ Pharmacogenomics

ยาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนั้น โดยมากแล้วเป็นการผลิตขึ้นมาสำหรับผู้ป่วย “ทุกราย” เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายๆ โรค แต่ความจริงก็คือ ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่จะตอบสนองต่อยาที่ได้รับ ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน


การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมว่ามีผลกับการตอบสนองต่อยาอย่างไรได้กลายมาศาสตร์แขนงหนึ่งที่เรียกว่า pharmacogenomics หรือ เภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์แนวทางใหม่เพื่อการรักษา วินิจฉัย และป้องกันโรคแบบจำเพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายหรือ precision medicine

 

ปฏิกิริยาระหว่างยาและร่างกาย

ในภาวะปกติ การรักษาด้วยยาเพื่อให้เกิดผลตามต้องการนั้นจะต้องผ่านปฏิกิริยาระหว่างยาและร่างกายสองกระบวนการ นั่นคือ เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการกับยาที่ได้รับเรียกว่า เภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) เช่น ดูดซึมยา กระจายตัวยา เปลี่ยนแปลงยา และขับยาออกจากร่างกาย เมื่อยาไปถึงจุดที่จะออกฤทธิ์ ยาจะจับกับโมเลกุลของร่างกายที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับแล้วเกิดกระบวนการออกฤทธิ์ของยาต่อร่างกายหรือ เภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamics)


แต่ในบางกรณี อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในกระบวนการดังกล่าว โดยเกิดจากปัจจัยต่างๆ อาทิ เพศ ขนาดร่างกาย โรคร่วม ยาที่ได้รับร่วม และที่สำคัญคือลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยเอง ส่งผลให้การรักษาไม่เป็นไปตามที่แพทย์คาดหวัง

 

ยีนกับยา

ตัวอย่างที่ลักษณะทางพันธุกรรมมีผลต่อการตอบสนองของยา ได้แก่ การใช้ยารักษาโรคเก๊าท์ที่ชื่อว่า allopurinol ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคเก๊าต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ป่วยชาวเอเชียรวมถึงคนไทย มียีน HLA ที่มีความแปรผันต่างไปจากประชากรชาติอื่นทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยาอย่างรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงไม่สามารถใช้ยา allopurinol ได้


นอกจากนี้ยังมียา clopidogrel สำหรับป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งพบว่าผู้ป่วยบางรายมียีนเปลี่ยนแปลงไปทำให้เอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยาไม่ทำงาน ยาจึงไม่ออกฤทธิ์


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยาทุกตัวที่ผู้ป่วยจะต้องตรวจลักษณะทางพันธุกรรมก่อนใช้ แต่ต้องเป็นยาที่ได้รับการศึกษามาแล้วก่อนหน้านี้ว่ามีประโยชน์ในการตรวจ ซึ่งกลุ่มยาที่ควรระวังเกี่ยวกับการตอบสนองต่อยา ได้แก่ กลุ่มยากันชัก กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด กลุ่มยาลดไขมัน กลุ่มยาที่ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และกลุ่มยาที่ใช้ทางจิตเวชไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับ ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยารักษาโรคทางจิตเภท

 

ประโยชน์ของการตรวจ pharmacogenomics

การตรวจลักษณะทางพันธุกรรมหรือยีนที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยเพื่อใช้เป็นข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์ก่อนการใช้ยาบางกลุ่มหรือระหว่างที่ได้รับยาอยู่ มีประโยชน์หลายประการ ได้แก่

  • ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกชนิดและขนาดของยาได้อย่างเหมาะสมตรงตามสาเหตุและกลไกการเกิดโรคของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้การตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้นกว่าเดิม
  • ช่วยป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา หากพบว่าผู้ป่วยมีโอกาสได้รับผลข้างเคียงจากยา แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงหรือไปใช้ยากลุ่มอื่นที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น


Pharmacogenomics จึงช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับผู้ป่วย

 

บำรุงราษฎร์กับ pharmacogenomics

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้บริการตรวจทาง pharmacogenomics มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องการตรวจพันธุกรรมก่อนรับยา หรือตรวจระหว่างการรับยาเมื่อสงสัยว่ายาที่ได้รับไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีอาการแพ้หลังใช้ยา เช่น มีผื่นขึ้น หายใจไม่ออก ตัวบวม ตาบวม ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อพิจารณาตรวจลักษณะทางพันธุกรรมโดยการเจาะเลือด

หากตรวจพบว่าผู้ป่วยมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แพทย์จะให้คำแนะนำเพิ่มเติมและเลือกใช้ยาที่เหมาะสมต่อไป


เรียบเรียงโดย ผศ.พญ ปาจรีย์ จริยวิลาศกุล ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs