bih.button.backtotop.text

ทำความรู้จักภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

เคยหรือไม่ที่สังเกตนิ้วหัวแม่เท้าตัวเองแล้วรู้สึกว่านิ้วดูเอียงงอผิดปกติ ไม่สวยงาม หรือในบางครั้งอาจมีอาการปวดเวลาเดิน ทำให้เดินได้ลำบาก หรือมีปัญหาในการใส่รองเท้า อาการผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจาก “ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง”
 

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงคืออะไร

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (bunion หรือ hallux valgus) เป็นภาวะที่มีกระดูกปูดบริเวณข้อต่อตรงโคนนิ้วหัวแม่เท้าเนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าเอนเข้าไปชิดกับนิ้วชี้ ทำให้ข้อต่อหัวแม่เท้าโตขึ้นและปูดออกมา อาจพบว่าหนังบริเวณโคนนิ้วที่ยื่นออกมาอาจเป็นสีแดงซึ่งทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากผิวหนังทั้งที่จริงแล้วมีสาเหตุจากกระดูก ทั้งนี้ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น
 

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเกิดจากอะไร

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงมีสาเหตุเกิดจากโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติซึ่งมักเป็นพันธุกรรม เช่น เท้าแบน หรือกระดูกนิ้วหัวแม่เท้ามีการเอียงออกเอง ส่วนการสวมรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่มีหัวรองเท้าแคบไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง แต่เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้อาการแย่ลงเท่านั้น
 

อาการของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

ในระยะแรกที่นิ้วหัวแม่เท้าเริ่มเอียงอาจจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อนิ้วหัวแม่เท้าเริ่มเอียงมากขึ้นหรือเมื่อสวมรองเท้าที่มีหัวรองเท้าแคบบีบรัดอาจเริ่มมีอาการแสดงที่สังเกตได้ เช่น
  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านนอกปูดเป็นปุ่ม
  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าบวม แดง หรือปวด
  • รู้สึกปวดเท้าเป็นพักๆ หรือปวดไม่ยอมหาย
  • หนังบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าหนาขึ้น
  • ขยับนิ้วหัวแม่เท้าได้เล็กน้อย ทำให้เดินได้ลำบาก
 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาตามมาเสมอไป แต่หากไม่ทำการรักษาก็ไม่อาจหายเองได้และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น
  • ถุงน้ำป้องกันการเสียดสีอักเสบ (bursitis) คือ การอักเสบของถุงน้ำที่เป็นตัวรองรับการเสียดสีบริเวณกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อใกล้ข้อต่อ ทำให้เกิดอาการปวด
  • นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (hammer toe) โดยมีสาเหตุจากข้อต่อตรงกลางนิ้วโค้งงอผิดปกติ ทำให้ปวดและมีแรงกด
  • อาการปวดและการอักเสบที่ฝ่าเท้า
 

การวินิจฉัยภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

โดยปกติการวินิจฉัยภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง แพทย์จะใช้เพียงการตรวจดูลักษณะของเท้าภายนอกก็เพียงพอแล้ว แต่หากต้องการยืนยันผลการวินิจฉัย แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยการเอกซเรย์เพิ่มเติม
 

การรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

การรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ อาการปวด และแรงกดที่หัวแม่เท้า โดยการรักษาอาจเริ่มต้นจากการเปลี่ยนรูปทรงรองเท้าที่สวม ใช้แผ่นพยุงเท้าช่วยประคองบริเวณที่มีอาการ รับประทานยาระงับปวด หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการแย่ลง ใช้น้ำแข็งประคบบรรเทาอาการปวดและอักเสบ

อย่างไรก็ดี หากใช้วิธีต่างๆ ดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือยังมีอาการปวดอยู่ หรือส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอากระดูกส่วนที่ยื่นออกและจัดกระดูก เอ็น และเส้นประสาทกลับเข้าตำแหน่งที่เหมาะสม
 

การป้องกันภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

แม้คนเราจะไม่สามารถเลือกรูปทรงเท้าของตัวเองได้ แต่ก็สามารถเลือกสวมรองเท้าที่หัวกว้างหรือไม่บีบรัดจนเกินไปเพื่อบรรเทาไม่ได้เกิดอาการหรือปัญหาที่รุนแรงได้


เรียบเรียงโดย นพ.วิทูร บุญถนอมวงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs