bih.button.backtotop.text

ตัวแปรสำคัญสาเหตุของโรคข้อเสื่อม

พบตัวแปรสำคัญสาเหตุของโรคข้อเสื่อม

ผลวิจัยล่าสุดจากประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกว่า เพราะอะไรโรคข้อเสื่อมจึงเป็นตัวการทำลายกระดูกข้อต่อ ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้นำไปสู่หนทางในการพัฒนาการรักษาและป้องกันอาการเจ็บปวดที่เกิดกับผู้ป่วยทั้งชายและหญิงหลายล้านคนทั่วโลก

การศึกษาครั้งนี้จัดทำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rochester Medical Center ในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Bone and Mineral Research ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "เบต้า คาเทนีน" ซึ่งถูกพบว่าอาจเป็นสาเหตุของการผุกร่อนของกระดูกข้อต่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่าเบต้า คาเทนีนระดับสูงในร่างกายมีผลเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคข้อเสื่อม

นักวิจัยได้ทดลองใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อทำให้ร่างกายของหนูทดลองมีสารเบต้า คาเทนีนอยู่ในระดับสูง ผลปรากฏว่าบรรดาหนูทดลองต่างแสดงอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ทั้งยังพบภาวะกระดูกข้อต่อเสื่อมและกระดูกพรุนอีกด้วย

พร้อมกันนี้ นักวิจัยยังได้นำตัวอย่างเซลล์กระดูกจากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมเรื้อรังมาตรวจสอบ พบว่ามีระดับเบต้า คาเทนีนในเซลล์ตัวอย่างสูงกว่าระดับปกติเช่นกัน

ออกกำลังกายแบบทานน้ำหนัก ช่วยเพิ่มมวลกระดูก

โดย ผศ.นพ.ดร.ประวีร์ สิริเธียรทรรศน์

โรคกระดูกพรุนอาจเป็นหนึ่งในปัญหาเรื่องสุขภาพที่คุณผู้หญิงหลายๆ คนกังวลอยู่ เพราะเป็นที่ทราบกันว่าเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพอันดับต้นๆ หลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้หญิงจะสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกไปเร็วกว่าผู้ชายมาก แต่การสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกก็สามารถชะลอได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เคล็ดลับอยู่ที่การเลือกออกกำลังกายแบบที่มีการเพิ่มแรงกดไปที่กระดูกอย่างการฝึกยกน้ำหนัก (Weight Training) หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "เล่นเวต" นั่นเอง

งานวิจัยจากเยอรมนีระบุว่า การฝึก "เล่นเวต" นั้นมีส่วนเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกในหญิงวัยหมดประจำเดือนอย่างมีนัยสำคัญ ผู้หญิงที่ฝึกเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ก็พบว่ามีความหนาแน่นของกระดูกมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นเลย

ตรงนี้ผู้หญิงหลายๆ คนอาจกังวลว่าถ้าฝึก "เล่นเวต" แล้วจะกล้ามขึ้นใหญ่เหมือนนักเพาะกาย ขอให้หมดห่วงได้เพราะการเล่นเพียงอาทิตย์ละครั้งนั้นเพียงพอที่จะรักษาสุขภาพของกระดูก แต่ไม่มากพอที่จะเปลี่ยนคุณเป็นนักมวยปล้ำได้แน่นอนครับ

มลพิษทางอากาศกระตุ้นภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน

เมื่อเร็วๆ นี้ วารสาร The Archives of Internal Medicine ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาโรคหลอดเลือดดำอุดตัน โดยระบุว่าการอาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศในปริมาณสูง จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Economy Class Syndrome" ซึ่งส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดอาการบวมที่ขาอันเนื่องมาจากการไหลเวียนของเลือดผิดปกติจนจับตัวกันกลายเป็นลิ่มเลือด.

ทั้งนี้นักวิจัยจากประเทศอิตาลีได้ทดลองตรวจวัดปริมาณมลพิษทางอากาศในเขตที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดดำอุดตันจำนวน 900 คน เปรียบเทียบกับประชากรกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพดีจำนวน 1,200 คน เป็นเวลากว่า 1 ปี ผลปรากฏว่ามลพิษทางอากาศมีผลต่อการเกิดอาการของโรคหลอดเลือดดำอุดตันอย่างชัดเจน

กล่าวคือในแต่ละครั้งที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะนำไปสู่ภาวะความเสี่ยงของอาการโรคหลอดเลือดดำอุดตันในแต่ละบุคคลถึงร้อยละ 70 ซึ่งนั่นหมายถึงว่าบุคคลที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีระดับของมลพิษทางอากาศสูง ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันสูงตามไปด้วย
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs