bih.button.backtotop.text

เตรียมความพร้อมสู่วัยหมดประจำเดือน

20 มกราคม 2551
ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง มีความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและร่างกายที่สำคัญ ๆ อยู่ประมาณ 2 - 3 ครั้ง ได้แก่ เมื่อเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก เมื่อตั้งครรภ์ และเมื่อถึงเวลาหมดประจำเดือน แต่ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ภาวะหมดประจำเดือนมักจะถูกมองในด้านลบมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลที่ว่าหลายคนที่ประสบกับภาวะนี้ ล้วนบอกเล่าถึงประสบการณ์อันไม่น่าประทับใจนัก

แม้การหมดประจำเดือนจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนต้องประสบกับภาวะอันไม่พึงประสงค์ เป็นต้นว่า ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ และอื่น ๆ เสมอไป Better Health ฉบับนี้มีคำแนะนำจากนายแพทย์ปรีชา เหมชะญาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชวิทยาสำหรับผู้หญิง ในการเตรียมความพร้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงหมดประจำเดือน

ประจำเดือน ทำไมจึงหมด

ภาวะหมดประจำเดือน จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการหมดประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับประสบการณ์ในการมีประจำเดือน "ภาวะหมดประจำเดือนเป็นผลมาจากการที่รังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการตกไข่และสร้างฮอร์โมนเพศอีกต่อไป" นพ.ปรีชาอธิบาย

"กระบวนการตามปกติของการมีประจำเดือนนั้นเริ่มจากการที่ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนออกมากระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่ออกมา เมื่อไข่สุกจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเทอโรนออกมากระตุ้นให้ผนังมดลูกก่อตัวหนาขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวในกรณีที่ไข่ได้รับการผสม เมื่อไข่ไม่ได้รับการผสม ผนังมดลูกก็จะลอกหลุดออกมาเป็นรอบเดือน เมื่อหมดประจำเดือนก็เป็นการสิ้นสุดของภาวะเจริญพันธุ์นั่นเอง"

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือนกันที่อายุประมาณ 50 ปี แต่ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายจะเริ่มประมาณกลาง ๆ อายุ 30 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ จนกระทั่งอายุประมาณ 40 ที่ระดับฮอร์โมนผันผวนอย่างชัดเจนมากขึ้น เป็นที่มาของอาการผิดปกติต่าง ๆ

"ช่วงของการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน (Menopause Transition) นี้ จะกินเวลาอยู่ประมาณ 4 ถึง 5 ปี เป็นช่วงที่ผู้หญิงบางคนมีอาการแปลก ๆ รวมทั้งประจำเดือนมาไม่ปกติก่อนที่จะหยุดไปอย่างสิ้นเชิงในทางการแพทย์ ถ้าหากว่ารอบเดือนไม่มาติดต่อกันนาน 12 เดือน โดยที่ไม่อาจหาสาเหตุอื่นได้ เราถือว่าหมดประจำเดือนแล้ว" นพ. ปรีชากล่าว

สัญญาณเตือนจากร่างกาย

เพราะความแตกต่างทางร่างกายของผู้หญิงทำให้ภาวะหมดประจำเดือนของแต่ละคนแตกต่างกันไป ผู้หญิงประมาณร้อยละ 15 ถึง 20 ไม่มีอาการใด ๆ นอกจากประจำเดือนหมดไปเฉย ๆ "ผู้หญิงส่วนมากจะพอทราบเมื่อถึงเวลาที่ตนเองใกล้จะหมดประจำเดือน เพราะมีอาการหลายอย่างที่อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน มาเร็วบ้าง ช้าบ้าง บางทีไม่มาเลย หรือมามาก มาน้อยจนคุณไม่อาจคาดการณ์ใด ๆ ได้อีก ตรงนี้เป็นเพราะระบบ ฮอร์โมนเริ่มแกว่งนั่นเอง" นพ. ปรีชากล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความผิดปกติของรอบเดือนจะเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงวัยประมาณ 40 ปีที่เริ่มเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน ผู้หญิงก็ควรปรึกษาแพทย์เสมอเมื่อเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้น เนื่องจากความผิดปกติของรอบเดือนไม่ได้เป็นสัญญาณของการหมดประจำเดือนเท่านั้น แต่ยังเป็นอาการหนึ่งของความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกได้เช่นกัน

นพ.ปรีชาเน้นว่า "ถ้ารอบเดือนของคุณหยุดไปหลายเดือนและอยู่ๆ ก็มาอีกพร้อมกับมีเลือดออกมาก หรือถ้ารอบเดือนหยุดไปแล้วครบ 1 ปี และกลับมามีอีก ควรรีบไปตรวจให้เร็วที่สุด ที่สำคัญ หมออยากเน้นว่า ทุก ๆ ครั้งที่คุณไปตรวจสุขภาพประจำปี หากคุณมีความผิดปกติเกี่ยวกับรอบเดือน ต้องแจ้งให้แพทย์ของคุณทราบเสมอ"

นอกจากเรื่องรอบเดือนผิดปกติแล้ว อาการอื่น ๆ ที่ถือว่าเป็นสัญญาณของการหมดประจำเดือนมีดังนี้
  • อาการร้อนวูบวาบ (3 ใน 4 ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเคยมีอาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้น บางครั้งก็มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืนขณะนอนหลับ)
  • นอนไม่หลับ หรือหลับยาก ต้องตื่นบ่อยๆ กลางดึก หรือตื่นเช้ากว่าปกติ
  • อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และซึมเศร้า
  • ช่องคลอดแห้ง และมีความรู้สึกทางเพศลดลง
อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติและจะหายไปเองได้ในไม่ช้า โดยมากอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือนนั้นไม่รุนแรงนัก บางรายที่อาการรุนแรงการรักษาส่วนมากก็เป็นการรักษาตามอาการ ส่วนในรายที่อาการรุนแรงมากอาจต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดอาการไม่สบายต่างๆ แต่ทั้งนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาอย่างละเอียดเป็นกรณีๆ ไป

ผลต่อสุขภาพ

แม้อาการผิดปกติต่างๆ จะหายเองได้ในที่สุด แต่สิ่งที่คุณควรทราบคือความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคกระดูกพรุนของคุณจะเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะเป็นกันเสียทั้งหมด

มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้คุณเป็นโรคหัวใจซึ่งสามารถป้องกันได้ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด การออกกำลังกายก็ส่งผลดีต่อหลอดเลือด หัวใจ และปอดอยู่แล้ว ทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตและควบคุมโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเรื้อรังอีกหลายโรค นพ.ปรีชาแนะนำว่าแค่เดินวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ถึง 5 วัน ก็ส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว

"ส่วนเรื่องความแข็งแรงของกระดูกนั้นผู้หญิงแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่คุณจะเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้ด้วยการใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารให้ดีเพื่อว่าร่างกายจะได้รับแคลเซียมมากพอในแต่ละวัน เรื่องออกกำลังกายนี่ขาดไม่ได้แน่นอน เพราะเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้คุณทรงตัวได้ดีขึ้นไม่เสี่ยงต่อการหกล้มบ่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น"

นอกจากนี้ นพ.ปรีชายังเสริมอีกว่า ผู้หญิงทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังวัยหมดประจำเดือนได้หากรู้จักดูแลตัวเอง

เตรียมตัวให้พร้อม

การหมดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่มีวิธีการใดที่จะห้ามได้ แต่คุณอาจเตรียมตัวรับการมาถึงได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
  • ศึกษาและเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
  • ให้ความรู้กับคนรอบข้าง หรือคนในครอบครัวให้พร้อมรับมือกับอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ
  • ให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองเป็นพิเศษเมื่ออายุมากขึ้น เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจเรื่องอาหารที่จะรับประทาน และ การตรวจสุขภาพต่าง ๆ
  • ฝึกออกกำลังกายเพื่อพัฒนาระบบกล้ามเนื้อและกระดูก โดยอาศัยคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
  • เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และพยายามควบคุมน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน และโรคเรื้อรังต่างๆ
  • เสริมแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอเพื่อสุขภาพของกระดูก
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ
การมาถึงของวัยหมดประจำเดือนไม่ใช่คำสาปที่ทำให้คุณต้องเจอแต่เรื่องร้ายๆ ชีวิตหลังหมดประจำเดือนก็เป็นชีวิตที่รื่นรมย์ได้เช่นเดิมเหมือนหลายๆ ปีที่ผ่านมา เตรียมตัวและเตรียมสุขภาพของคุณให้พร้อมเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงอย่างสง่างามเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

คุณทราบหรือไม่ ?

  • อีก 22 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2573) จะมีผู้หญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ประมาณ 1,200 ล้านคนทั่วโลก
  • ก่อนอายุ 50 ปี ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า แต่หลังจากหมดประจำเดือนไปแล้ว 10 ปี ความเสี่ยงของทั้งชายและหญิงอยู่ในระดับเดียวกัน
  • ผู้หญิงทุก ๆ 1 ใน 4 รายเป็นโรคกระดูกพรุนหลังหมดประจำเดือน
  • งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ถั่วเหลืองอาจช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบหลังหมดประจำเดือนได้
  • เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น ความสามารถในการมีบุตรจะลดลง แต่สถิติการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจของผู้หญิงอายุระหว่าง 40 ถึง 44 ปี กลับสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มวัยรุ่น เพราะแม้จะเริ่มมีอาการต่างๆ ที่แสดงว่าภาวะหมดประจำเดือนใกล้จะมาถึง เช่น ประจำเดือนมาๆ หยุดๆ ช่วงนี้ผู้หญิงก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้อยู่ดี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs