bih.button.backtotop.text

Q&A กับวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

29 มกราคม 2567

Q&A วัคซีน HPV

 
  1. อายุเกิน 26 ปี สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ และได้ประโยชน์อย่างไร

ตอบ ฉีดได้ ปัจจุบันวัคซีน HPV แนะนำให้ฉีดในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9 ปีขึ้นไป  ในกรณีที่ไม่เคยติดเชื้อ HPV มาก่อน วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อได้ดีไม่ต่างจากคนอายุน้อย หรือกรณีเคยติดเชื้อ HPV มาแล้ว วัคซีน HPV จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยติดมาก่อน รวมถึงช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันและสามารถกำจัดเชื้อนั้นออกไปได้
 

  1. มีเพศสัมพันธ์แล้วสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่

ตอบ สามารถฉีดได้ ปัจจุบันตามแนวทางการให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ของประเทศไทย* แนะนำในผู้หญิงและผู้ชายทุกคน ที่อายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีน HPV ไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม

*คำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ปี 2563 และคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมมะเร็งนรี-เวชไทย
 

  1. หากติดเชื้อ HPV แล้ว วัคซีนยังคงมีประโยชน์หรือไม่

ตอบ ยังคงมีประโยชน์ โดยวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันสายพันธุ์อื่นๆที่ยังไม่ติด และป้องกันการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์เดิม เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติไม่สูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อครั้งถัดไปได้ จึงควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และจากการศึกษาการให้วัคซีนในผู้หญิงที่มีรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม (CIN2+) ภายหลังการรักษา พบว่า สามารถลดการกลับมาเป็นซ้ำได้ 80% เมื่อเทียบกลับกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีน ภายหลังจากติดตาม 4 ปี
 

  1. ก่อนฉีดวัคซีน HPV ผู้หญิงจำเป็นต้องตรวจภายในเพื่อคัดกรองก่อนหรือไม่

ตอบ สามารถฉีดได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน หรือ ตรวจหาเชื้อ HPV DNA testing หรือ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน เนื่องจากเชื้อ HPV* ที่ตรวจพบอาจไม่ได้เป็นการติดเชื้อแบบฝังแน่นจนก่อให้เกิดโรคกับสตรีนั้น นอกจากนั้น ในกรณีที่พบเซลล์ผิดปกติก็อาจไม่ได้เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่บรรจุในวัคซีน โดยหลังจากฉีดวัคซีน HPV ครบแล้ว ยังคงต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามเกณฑ์สม่ำเสมอ เนื่องจากยังมีเชื้อบางชนิดที่ไม่ได้บรรจุอยุ่ในวัคซีน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก

*คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมมะเร็งนรี-เวชไทย
 

  1. หากวางแผนมีบุตร สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่ หรือ ถ้าฉีดวัคซีน HPV ไปแล้วพบว่าตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร

ตอบ สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่วางแผนจะมีบุตร สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ตามปกติ โดยแนะนำว่าควรฉีดวัคซีนให้ครบก่อนตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในผู้หญิงตั้งครรภ์ หากกรณีที่ได้รับวัคซีน HPV ไปแล้ว พบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ควรหยุดฉีดวัคซีน HPV เข็มถัดไปก่อน และรอจนกว่าจะคลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถฉีดวัคซีนเข็มถัดไปต่อจากเดิมได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่  จากรายงานด้านความปลอดภัยของวัคซีน HPV พบว่าวัคซีนไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และหญิงให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้
 

  1. วัคซีน HPV ในประเทศไทย มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ตอบ วัคซีน HPV มี 3 แบบ ได้แก่

    • ชนิด 2 สายพันธุ์ (HPV 16/18)
    • ชนิด 4 สายพันธุ์ (HPV 6/11/16/18)
    • ชนิด 9 สายพันธุ์ (HPV 6/11/16/18/31/33/45/52/58)

เชื้อ HPV แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

    • สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58
    • สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ ที่ก่อให้เกิดหูด ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11

วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ จะครอบคลุมเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งจาก HPV โดยครอบคลุมสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ได้ประมาณ 70% และ ครอบคลุมสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ ได้ 90 % รวมทั้งมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมะเร็งจาก HPV ในเพศชาย เช่น มะเร็งทวารหนักและหูดหอนไก่ที่อวัยวะเพศชาย

วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ จะคลุมคลุมเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 94% และครอบคลุมเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งช่องปากและลำคอได้ถึง 95% รวมถึงครอบคลุมสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ ได้ 90% อีกทั้งยังมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งต่างๆ จาก HPV เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และ มะเร็งทวารหนักได้ถึง 97%
 

  1. วัคซีน HPV ฉีดได้ตั้งแต่อายุกี่ปี

ตอบ วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ทั้ง ใน ผู้หญิง และ ผู้ชาย ตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป
 

  1. ในผู้ชายวัคซีน HPV มีประโยชน์อย่างไร จำเป็นต้องฉีดหรือไม่

ตอบ  เชื้อ HPV สามารถก่อโรคได้ทุกเพศทุกวัย สำหรับเชื้อ HPV ในเพศชาย สามารถก่อโรคต่าง ๆ ได้ เช่น มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก และ หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ ซึ่งโอกาสการติดเชื้อ HPV ในเพศชายจะสูงอย่างต่อเนื่องตลอด และไม่ลดลงตามช่วงอายุ สำหรับถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% เนื่องจากเชื้อสามารถติดบริเวณอื่น ๆ ที่ถุงยางไม่ครอบคลุมได้ อีกทั้งในเพศชายยังไม่มีคำแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเหมือนของผู้หญิง จึงไม่มีทางรู้เลยว่าติดเชื้อเมื่อใด เพราะจะไม่แสดงอาการจนกว่าเชื้อจะพัฒนาเป็นรอยโรคหรือมะเร็งแล้ว นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันแนวโน้มของมะเร็งช่องปากและลำคอที่เกิดจากเชื้อ HPV พบสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในเอเชีย ดังนั้นการฉีดวัคซีน HPV ในเพศชายมีความจำเป็นไม่ต่างกับเพศหญิง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อกับตนเองได้โดยตรง และยังป้องกันการเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย

  1. เคยฉีดวัคซีน HPV 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาครบแล้ว อยากฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ สามารถทำได้หรือไม่

ตอบ  จากการศึกษาผู้ที่เคยฉีดวัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ครบแล้ว และได้รับวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ใหม่ ครบ 3 เข็ม พบว่ามีความปลอดภัย และร่างกายตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อ HPV อีก 5 สายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นมาได้ดีหากได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันครบทั้ง 3 เข็ม และภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ยาวนานตลอดช่วงอายุ โดยไม่ต้องกระตุ้นซ้ำ
 

  1. หากได้รับวัคซีน HPV ไปแล้ว 1-2 เข็ม อยากเปลี่ยนมาเป็นวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ได้หรือไม่

ตอบ ยังไม่มีการศึกษาถึงแผนการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV แบบสลับไปมา (interchangeability) อย่างไรก็ตาม กรณีเคยได้รับวัคซีน HPV มาก่อน ไม่ว่าจะครบหรือไม่ครบก็ตาม ถ้าต้องการเปลี่ยนชนิดเป็นวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ควรได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันใหม่ให้ครบทั้ง 3 เข็ม

 

  1. ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหลังฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์

ตอบ จากการศึกษาที่มีการติดตามยาวนานพบว่า การให้วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ จำนวน 3 เข็มในเด็กอายุ 9-15 ปี พบว่า ร่างกายสามารถตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี โดยจะเห็นว่าร่างกายยังคงมีภูมิคุ้มกันมากกว่า 90% จากการติดตามยาวนานกว่ามากกว่า 10 ปี และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามและหูดหงอนไก่ในผู้หญิง รวมถึงรอยโรคก่อนมะเร็งและหูดหงอนไก่ในผู้ชาย

 

  1. วัคซีน HPV มีวิธีการฉีดอย่างไร

ตอบ - อายุ 9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม โดย เข็มแรกฉีดวันที่สะดวก และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน (ถ้าเข็มที่ 2 ฉีดเร็วกว่า 5 เดือน ควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพิ่ม)

 - อายุ 15 – 45 ปี ฉีด 3 เข็ม ดังนี้ เข็มแรกวันที่สะดวก เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 2 เดือน เข็มสามห่างจากเข็มสอง 4เดือน (และห่างจากเข็มแรก 6 เดือน) หรือ เดือนที่ 0, 2, และ 6 นับจากเข็มแรก

เพิ่มเติมกรณีไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามนัด:  วัคซีนเข็มแรก ควรเว้นห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน, เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 3 เดือนและ เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 3 ไม่น้อยกว่า 5 เดือน

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันเชื้อ HPV ควรได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันให้ครบคอร์สทั้ง 3 เข็ม ภายใน 1 ปี สำหรับผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ถ้าหากลืมฉีดหรือเลยกำหนดฉีดวัคซีนตามกำหนดไปแล้ว ในปัจจุบันแนะนำว่าสามารถฉีดวัคซีนเข็มถัดไปต่อได้เลย (วัคซีนชนิดเดียวกัน) โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดใหม่  (no maximum interval) ตามคำแนะนำของ CDC (USA)

 

  1. หลังฉีดวัคซีนแล้วจะมีไข้ หรือ มีผลข้างเคียงอย่างไร

ตอบ อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง ปวดหัว คัน ฟกช้ำ ห้อเลือด ก้อนเนื้อ ไข้ คลื่นไส้ มึนงง อ่อนล้าโดยอาการข้างเคียงต่าง ๆ เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย และไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายหลังจากการฉีดวัคซีน 3-5 วัน โดยสามารถทานยาเพื่อบรรเทาอาการได้ตามปกติ

 

  1. วัคซีน HPV มีความปลอดภัยหรือไม่

ตอบ วัคซีนมีความปลอดภัย จากข้อมูลการใช้ทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านเข็ม พบว่า ผลข้างเคียงส่วนมากไม่รุนแรง และยังไม่พบการเสียชีวิตใดที่เกิดจากวัคซีน เนื่องจากวัคซีนทำจากอนุภาคที่เลียนแบบไวรัส โดยไม่มีสายพันธุกรรมดีเอ็นเอของไวรัส จึงไม่สามารถทำให้เซลล์ติดเชื้อหรือก่อโรคได้

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs