bih.button.backtotop.text

ภูมิแพ้ เราไม่แพ้ มารู้ลึก รู้จริงกับเรื่องการแพ้

Heat Rash  

ลักษณะเป็นผื่นแดง ผดร้อน มักเกิดในคนที่อาศัยบริเวณเขตร้อนชื้น ซึ่งมักพบในเด็กเล็กและทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในตู้อบ สาเหตุเกิดจากความร้อนทำให้เหงื่อออกมากแล้วไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เมื่อระบายเหงื่อได้ไม่ดีจึงเกิดผื่นชนิดผดร้อนได้ เด็กเล็กจะเกิดผื่นชนิดนี้ได้ง่ายเพราะว่าต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ผื่นร้อนอาจเกิดจากการใส่เสื้อผ้าที่แน่นจนเกินไป หรือในเด็กที่มีไข้หรือมีเหงื่อออกง่ายจากการทำกิจกรรม

การสังเกตุลักษณะผื่นง่ายๆจาก มีผื่นแดง ลักษณะคล้ายผด บริเวณคอ รักแร้ หน้าอกและบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม โดยผื่นมักเป็นบริเวณร่องผิวหนัง และบริเวณที่ใส่เสื้อผ้ารัดๆ หรืออาจพบบริเวณศีรษะได้ในเด็กที่ใส่หมวก

ถึงแม้ว่าผื่นชนิดนี้หายเองได้ แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการคันได้ ดังนั้นการดูแลเบื้องต้นเมื่อมีผื่นชนิดนี้คือ

  1. พยายามไม่ให้เด็กร้อนจนเกินไป ให้เด็กอยู่ในอุณหภูมิที่เย็น อาบน้ำเด็กด้วยน้ำที่ไม่อุ่นจนเกินไป แล้วซับเบาๆด้วยผ้าที่เย็น พยายามปล่อยให้ตัวแห้งเอง โดยไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวถูตัวหลังอาบน้ำ
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าที่เป็นใยสังเคราะห์เช่น ไนลอน โพลีเอสเตอร์ ควรใช้ผ้าคัดตอน (cotton) และไม่ใส่เสื้อผ้ารัดจนเกินไป
  3. ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ครีม คาลาไมด์ โลชั่น กรณีที่มีผื่นเยอะ แพทย์อาจสั่งยาทาเพื่อช่วยให้ดีขึ้นเร็ว ควรพบแพทย์เมื่อ มีผื่นร่วมกับไข้  ผื่นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

 

Allergies โรคภูมิแพ้

เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วย และเมื่อเป็นภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ก็มักจะพบภูมิแพ้ชนิดอื่นร่วมด้วยในคนเดียวกัน โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และสามารถดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ ยกเว้นโรคหืดที่มีอาการรุนแรง หรือภาวะแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (anaphylaxis) ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคภูมิแพ้เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น (allergens) มากกว่าคนปกติ ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อคนปกติ ได้แก่ สิ่งกระตุ้นที่อยู่ในอากาศ (aeroallergens) เช่น ฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา ควันบุหรี่  หรือสิ่งกระตุ้นที่เรารับประทาน เช่น อาหาร (ไข่ นม แป้งสาลี อาหารทะเล ถั่ว เป็นต้น) ยา หรือโดยวิธีสัมผัส เช่น สีย้อมผ้า ถุงมือยาง สบู่ น้ำหอบ หรืออาจได้รับโดยการกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มดต่อย เมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายจะทำให้ร่างกายเกิดปฏิกริยาที่ตอบสนองมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีนและสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ มีผลทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้

วิธีสังเกตุอาการของโรคภูมิแพ้ แบ่งเป็นสองกรณีคือ

  1. อาการรุนแรงเฉียบพลัน ได้แก่ ผื่นคัน หน้าบวม ตัวบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กลืนลำบาก ให้ปรึกษาแพทย์โดยด่วน
  2. อาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ อาจคอยสังเกตุเมื่อมีอาการระบบต่างๆที่เป็นซ้ำๆ เมื่อได้รับหรือหลังสัมผัสสารกระตุ้นภายในเวลาไม่ถึงวันหรือเป็นสัปดาห์

การดูแลตนเองเบื้องต้น

  1. รับประทานยาต้านฮีสตามีน เมื่อมีอาการจาม น้ำมูก คันตา คันตัว มีผื่นบวม ในกรณีที่มีอาการเรื้อรังการให้ยาต้านฮีตามีนอาจต้องให้เป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ แนะนำให้ยาต้านฮีสตามีนรุ่นใหม่ ที่ไม่ง่วงและผลข้างเคียงน้อยกว่า กรณีที่มีอาการแพ้ชนิดรุนแรง เช่น มีผื่นบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จากการเแพ้อาหาร หรือแมลงต่อย แนะนำให้พกยาฉีดอะดรีนาลีนเพื่อฉีดตัวเองเมื่อมีอาการโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าขา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  2. ลดการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน ด้วยการทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ ใช้ผ้าคลุมไรฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เอาแหล่งสะสมสารก่อภูมิแพ้ออกจากบ้าน เช่น พรม ม่าน หนังสือ สัตว์เลี้ยง ควันบุหรี่ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือแพ้ง่าย หากมีอาการหลังรับประทานอาหารภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นไว้ก่อน

ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ได้แก่ ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาต้านฮีสตามีน มีอาการรุนแรง หายใจไม่ออก มีอาการนานเกินสัปดาห์ มีอาการไซนัสหรือหูชั้นกลางอักเสบ ผื่นแห้งตกสะเก็ดหรือแดงแฉะ ท้องเสียเรื้อรัง ปากบวมหน้าบวม

 

โรคหืด (asthma)

เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งหากรักษาตั้งแต่ต้นมีโอกาสหายขาดหรือควบคุมไม่ให้มีอาการได้ ซึ่งโรคนี้เกิดจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้หลอดลมไว เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการหลอดลมตีบ มีมูกอุดตันทำให้หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีเสียงวี้ด ไอบ่อยๆหรือไอเรื้อรังหลังเป็นหวัดได้ อาการเหล่านี้มีตั้งแต่เล็กน้อยแค่อาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกัน

การดูแลรักษา คือใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการ โดยให้ salbutamol กด 4-6 กดเมื่อมีอาการแล้วสามารถให้ซ้ำได้อีกภายในเวลา 15 นาที หากให้ยาไป 3 ชุดแล้วไม่ดีให้ไปโรงพยาบาล กรณีมีอาการหอบมากจนเขียว ให้ไปโรงพยาบาลทันที พร้อมทั้งพ่นยาขยายหลอดลมระหว่างทาง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาโรคหืด การดูแลผู้ป่วยเมื่อมีอาการหืดกำเริบ ได้ที่ แอฟพลิเคชั่น (application) ชื่อ asthma care กรณีมีอาการหอบกำเริบบ่อยให้ใช้ยาควบคุมอาการเช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูด เพื่อลดหลอดลมอักเสบ หลอดลมไว ทำให้ป้องกันอาการหอบกำเริบ ซึ่งยาตัวนี้มีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้เป็นเวลานานตามขนาดที่แพทย์สั่ง สำหรับระยะเวลาในการรักษาโรคหืด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการไอรุนแรง หอบเยอะ วี้ดรุนแรง ริมฝีปากหรือเล็บเขียว

 

Eczema

ที่พบได้บ่อยคือผื่นแพ้ผิวหนังและผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis) ซึ่งในเด็กเล็กจะพบผื่นแพ้ผิวหนัง (infantile eczema) มากกว่า ลักษณะผื่นคือ แห้ง แดง คัน มักเป็นบริเวณ หน้า หนังศีรษะ แขนและขา อาการจะคันมาก ทำให้เกาจนเกิดผิวแห้ง หนา ตกสะเก็ด บางครั้งเกาจนเป็นแผลถลอก ติดเชื้อได้

การดูแลตนเองเบื้องต้น
  1. ใส่เสื้อผ้าเด็กด้วยผ้าคอดตอน ไม่ใช้เสื้อผ้าทีทำจากใยสังเคราะห์
  2. ตัดเล็บเด็กให้สั้น เพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเกา ใส่ถุงมือตอนนอนเพื่อป้องกันไม่ให้เกาขณะหลับ
  3. อุณหภูมิร้อนทำให้อาการแย่ลง พยายามให้เด็กอยู่ในที่เย็นและไม่อาบน้ำร้อน
  4. ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่อ่อน ไม่แพ้ง่าย (hypoallergenic products) หลังอาบน้ำใช้ผ้าเช็ดตัวซับเบาๆ ไม่ถู แล้วใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำทันที
  5. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมน้ำหอม
  6. ใช้น้ำเกลือหรือความเย็นประคบบริเวณที่มีผื่นคัน
  7. ผื่นแพ้ผิวหนังอาจกระตุ้นด้วยอาหาร ความเครียด ดังนั้นควรมองหาตัวกระตุ้นเหล่านี้ด้วย

ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการรุนแรงจนต้องได้รับยาสเตียรอยด์ทา มีการติดเชื้อจนต้องได้รับยาปฏิชีวนะ มีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ ผื่นคันจนรบกวนการนอนหรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก

 

Feeding Difficulties

คือภาวะการรับประทานอาหารยาก ปฏิเสธไม่รับประทานอาหาร ทำให้มีผลต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก ภาวะนี้พบได้ประมาณร้อยละ 25 ในเด็กปกติ  ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจาก ร่างกายมีปฏิกิริยาต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป (food intolerance) มากกว่าการแพ้อาหาร (food allergy) แต่อาการคล้ายกันมากทำให้แยกยากจากแพ้อาหาร อาการที่พบบ่อยได้แก่ คลื่นไส้ ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน  ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้ทั้งในภาวะ food allergy และ food intolerance

สำหรับภาวะแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาทางอิมมูนที่ตอบสนองไวผิดปกติต่ออาหารที่รับประทาน โดยมักมีอาการเฉียบพลันหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งอาการที่เกิดจากระบบอิมมูนชนิด IgE มักมีอาการเร็วหลังได้รับอาหาร โดยอาการที่พบได้แก่ ผื่นลมพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำมูก หอบ ผื่นแพ้ผิวหนัง หรืออาจมีอาการหลายระบบร่วมกันเรียกว่า anaphylaxis (ได้แก่มีอาการผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ)

สำหรับอาหารที่ทำให้แพ้ได้แก่ นมวัว ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว เป็นต้น กรณีอาการแพ้นมวัวที่เกิดจากปฏิกิริยาที่ไม่ผ่านอิมมูนชนิด IgE อาจมีอาการช้าหลังรับประทานนมวัวไปหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการที่พบได้แก่ กรดไหลย้อน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ส่วนคำว่า food intolerance นั้นไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาทางอิมมูน แต่เกิดความผิดปกติทางเมตาโบลิซึ่ม ที่ทำให้ไม่สามารถย่อยอาหารชนิดนั้นได้สมบูรณ์ มักจะมีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น ภาวะท้องเสียจากขาดเอ็นไซต์แลคโตส (lactose intolerance) ซึ่งอาการที่พบได้แก่ ถ่ายเป็นน้ำ ท้องอืด มีแก๊สในท้อง


ส่วนอาการ feeding difficulties อื่นๆที่พบได้แก่

  • ท้องผูก ในเด็กเล็กความถี่ในการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป แต่ภาวะท้องผูกหมายถึง ถ่ายลำบาก อุจจาระแข็งมาก หรือไม่ถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2 สัปดาห์  ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากอาหาร หรือควรระวังภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งถ้าหากท้องผูกนานๆจะทำให้เด็กปวดท้อง ท้องโต ทานอาหารได้ลดลง
  • ท้องเสีย คือการถ่ายอุจจาระบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำ สาเหตุที่พบบ่อยคือการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาการจะเกิดขิ้นเร็ว และหายภายในเวลาไม่กี่วัน สำหรับท้องเสียเรื้อรังคือมีอาการถ่ายเหลว มาหลายสัปดาห์ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากขาดเอ็นไซต์ในการย่อยนม หรือภาวะแพ้อาหารได้ ควรสังเกตุอาการขาดน้ำในเด็กด้วยได้แก่ ปัสสาวะลดลง ปากแห้ง ซึม กระสับกระส่าย ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  • แหวะนม คือการขย้อนนมที่ทานเข้าไปแล้วออกมาทางปากหรือจมูก ซึ่งตามปกติหลังจากดื่มนมไป อาหารจะผ่านหลอดอาหารลงไปที่กระเพาะอาหาร โดยมีหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างกั้นไม่ให้อาหารจากกระเพาะอาหารขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ แต่สำหรับเด็กเล็กบางครั้งหูรูดหลอดอาหารไม่แข็งแรงทำให้อาหารจากกระเพาะท้นขึ้นมากได้ นอกจากนี้จากดื่มนมในท่านอนอาจทำให้กระเพาะอาหารขยายอย่างรวดเร็วและเกิดการขย้อนนมได้ ดังนั้นแนะนำให้ป้อนนมท่าศีรษะสูงเล็กน้อย ควรป้อนนมครั้งละไม่มากจนเกินไป และจับเด็กนั่งเรอหลังดื่มนมทุกครั้ง


เรียบเรียงโดย : ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs