bih.button.backtotop.text

วิ่งทน วิ่งไกล ช่วยให้กระดูกแข็งแรง

18 มกราคม 2559

สำหรับผู้ที่สุขภาพดีนั้น การจะดูว่ากระดูกแข็งแรงหรือไม่ต้องดูจากความหนาแน่นของกระดูกซึ่งแตกต่างกันด้วยปัจจัย เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ และการรับประทานอาหาร และสามารถพัฒนาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Applied Physiology นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Camilo Jose Cela University (UCJC) ศึกษานักวิ่งที่เตรียมตัวลงแข่งวิ่งระยะไกล (10 กิโลเมตรขึ้นไป) เปรียบเทียบกับกลุ่มคนวัยเดียวกันที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย พบว่าคุณสมบัติเชิงกล อันได้แก่ ความแข็งแรง ความทนทาน และความยืดหยุ่นของผู้ที่เข้ามาฝึกซ้อมเตรียมวิ่งระยะไกลเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นโดยวัดจากค่าความหนาแน่นของกระดูก

วิธีออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกระดูกตามที่เราทราบกันดีก็คือ การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักหรือการออกกำลังกายแบบที่มีแรงกระแทกสูงอย่างเช่น การกระโดด แต่การวิ่งระยะไกลอย่างต่อเนื่องยาวนานก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องมีการศึกษาต่อไปว่าเพราะเหตุใดการวิ่งระยะไกลจึงช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ทั้งๆ ที่ไม่มีการลงน้ำหนักหรือใช้แรงกระแทกสูงแต่อย่างไร

ภาวะซึมเศร้าของแม่ มีผลต่อพัฒนาการของลูกน้อย

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Florida Atlantic University ได้ทำการศึกษาเรื่องภาวะซึมเศร้าในคุณแม่มือใหม่โดยศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้ากับระดับฮอร์โมนออกซิโทซิน หรือ ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’

นักวิจัยตามศึกษากลุ่มตัวอย่างนับตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึง 6 เดือนหลังคลอด โดยไปเก็บข้อมูลที่บ้าน ศึกษาตัวอย่างปัสสาวะของแม่และลูก และพบว่าระดับฮอร์โมนออกซิโทซินในแม่และลูกน้อยมีความสอดคล้องกันนั่นคือ หากแม่มีฮอร์โมนดังกล่าวสูง ลูกก็จะมีฮอร์โมนในระดับสูงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลจากการสัมผัส ป้อนนม และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในแง่นี้ หากแม่มีภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลถึงลูกด้วยนักวิจัยยืนยันเรื่องนี้ด้วยการวัดคลื่นสมองของทารก ดูการสื่อสารกันของสมองทั้งสองซีกซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และการเรียนรู้ สิ่งที่ค้นพบคือกิจกรรมของสมองในทารกเหล่านี้มีรูปแบบคล้ายคลึงกันกับของแม่ที่มีภาวะซึมเศร้า นั่นคือติดอยู่กับอารมณ์ด้านลบและไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ยืนยันว่าคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่าภาวะซึมเศร้าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยแต่ทั้งหมดก็สามารถแก้ไขและรักษาได้

สมองอ่อนวัย เพราะหัวใจแข็งแรง

คุณทราบหรือไม่ว่าการออกกำลังกายไม่เพียงดีกับหัวใจเท่านั้น แต่ยังดีกับสมองอีกด้วย

งานวิจัยล่าสุดได้เผยความเชื่อมโยงของสมองและหัวใจในผู้สูงอายุ กล่าวคือ การมีสุขภาพหัวใจ และหลอดเลือดดีช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ เพราะการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้นนั้นนอกจากจะทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเซลล์และหลอดเลือดใหม่ภายในสมองอีกด้วย

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Neurology อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปกว่า 800 ราย ระบุว่าระดับความแข็งแรงของหัวใจเกี่ยวพันกับความสามารถในการคิด ความทรงจำ การเคลื่อนไหว และความสามารถในการจัดการ ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นจากวารสาร Neuroimage ให้กลุ่มตัวอย่างเข้าเครื่องสแกนสมอง functional MRI ซึ่งตรวจจับการตอบสนองของสมองขณะใช้งาน พบว่าผู้ที่มีหัวใจแข็งแรงมีสัญญาณความเชื่อมโยงของสมองชัดเจนกว่า โดยเฉพาะบริเวณสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ

หากคุณมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและมีปัญหาสุขภาพ พยายามออกกำลังกายเท่าที่พอจะทำได้ เพื่อสุขภาพหัวใจและสมองที่สดใสของคุณเอง
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs