bih.button.backtotop.text

บุหรี่-เหล้า ส่วนผสมของมะเร็งหลอดอาหาร

ไม่ว่าจะเป็นเหล้าหรือบุหรี่ต่างก็เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งในหลอดอาหาร แต่จากการศึกษาล่าสุดซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน The American Journal of Gastroenterology พบว่า ผู้ที่ทั้งดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ควบคู่กันนั้น มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในหลอดอาหารมากกว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งถึงเกือบสองเท่าตัว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อมูลจากหลากหลายฐานข้อมูลรวมถึงศึกษาจากงานวิจัยหลายชนิดที่ทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งในหลอดอาหาร โดยเป็นการศึกษาผลกระทบ ของแอลกอฮอล์และ/หรือบุหรี่ที่มีต่อผู้ป่วย ซึ่งผลที่ได้จากการประมวลอย่างเป็นระบบยืนยันว่าแอลกอฮอล์และบุหรี่นั้นเป็นทั้งปัจจัยโดดและปัจจัยที่เชื่อมโยงกันในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งในหลอดอาหาร

 

วิตามินดีเพิ่มอัตราการรอดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

งานวิจัยล่าสุดของ มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กประเทศอังกฤษ พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะที่ 2 ซึ่งก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่พอสมควรแต่ยังไม่ลุกลาม

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการตรวจตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจำนวนกว่า 1,600 คนภายหลังการผ่าตัดรักษา และพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี สามในสี่ของผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดีสูงยังคงมีชีวิตอยู่ ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดีต่ำนั้นเหลือจำนวนน้อยกว่าสองในสาม แสดงให้เห็นวิตามินดีมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชี้แจงว่าในกรณีนี้ผู้ป่วยได้รับวิตามินดีจากธรรมชาติ เช่น จากแสงแดดและอาหาร ส่วนที่ว่าวิตามินดีในรูปอาหารเสริมจะได้ผลหรือไม่นั้น ต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

 

ฝึกเด็กกินผัก ควรเริ่มก่อนสองขวบ

“ลูกไม่ยอมกินผัก” ดูจะเป็นปัญหาของหลาย ๆ ครอบครัวและเป็นปัญหาร่วมของคุณพ่อคุณแม่ทั่วโลก เพราะไม่ว่าจะหลอกล่ออย่างไรเจ้าตัวเล็กก็ยังคงยืนยันมั่นคงว่าไม่เอาผัก จนคนป้อนต้องล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด แต่จากการศึกษาร่วมกันของมหาวิทยาลัยในอังกฤษฝรั่งเศส และเดนมาร์คพบว่า การฝึกเด็กให้รับประทานผักนั้นมีเทคนิคง่าย ๆ คือเริ่มให้เร็ว และต้องไม่ยอมแพ้

งานวิจัยชิ้นนี้ทำโดยให้เด็กวัยก่อนอนุบาลจำนวน 403 คน อายุตั้งแต่ 4 เดือนจนถึง 3 ขวบ รับประทานผักอาร์ติโชคที่บดจนเหลวเป็นจำนวน 5 - 10 ครั้ง ๆ ละ 100 - 200 กรัม โดยป้อนก่อนอาหารมื้อหลักหรือเป็นของว่างยามบ่าย แล้วบันทึกว่าเด็กแต่ละคนรับประทานได้มากน้อยแค่ไหน ผลก็คือร้อยละ 40 ของเด็กทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะรับประทานผักมากขึ้นในแต่ละครั้ง อีกร้อยละ 21 รับประทานผักเกือบหมดทุกครั้ง ในขณะที่ร้อยละ 16 ป้อน 5 ครั้งแล้วก็ยังปฏิเสธ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มที่วัดผลแน่นอนไม่ได้ “ เด็กยิ่งอายุน้อยจะเลือกกินน้อยกว่า เราพบว่าการฝึกให้เด็ก รับประทานผักควรเริ่มก่อน 2 ขวบและทำให้บ่อยครั้งเข้าไว้ ลองสัก 5 - 10 ครั้งแล้วคุณจะเห็นผล” นักวิจัยกล่าว

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs