bih.button.backtotop.text

ไข้หวัดใหญ่ที่อเมริกาน่ากลัวไหม

28 มกราคม 2556


พอเริ่มต้นปี ค.ศ.2013 ก็มีข่าวเรื่องการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอเมริกาดังไปทั่วโลก โดยมีรายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายเมืองใหญ่และหลายมลรัฐในอเมริกา แม้ขณะที่เขียนบทความนี้ก็มีการประกาศว่าไข้หวัดใหญ่ได้ลุกลามไปแทบทุกมลรัฐแล้ว โดยเฉพาะที่เมืองบอสตันและนิวยอร์กถึงขั้นประกาศภาวะวิกฤติของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ เพราะทุกโรงพยาบาลต่างเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มีอาการของไข้หวัดใหญ่ จนบรรดาแพทย์และพยาบาลทำงานกันไม่ทัน รวมถึงมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

แล้วไข้หวัดใหญ่ที่อเมริกาครั้งนี้น่ากลัวไหม? จะลุกลามมาถึงประเทศไทยหรือไม่?

 
ไข้หวัดใหญ่ที่อเมริกา
ที่มาภาพ: http://www.cdc.gov/flu/weekly/
 

ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ของสหรัฐอเมริกาได้แจ้งข้อมูลของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ พบว่าเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H3N2/Victoria ที่มีอยู่แล้วในวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลปัจจุบันนี้ ไม่ใช่สายพันธุ์แปลกใหม่ที่เกิดกลายพันธุ์ขึ้นจากไข้หวัดของสุกร (Swine Flu) เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2009 หรือจากสายพันธุ์ของไข้หวัดนก (Bird Flu) ในอดีตที่เคยทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูงไปทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้นและยังอยู่ในความทรงจำของทุกคนจนถึงวันนี้
 
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าเหตุที่การระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วครั้งนี้ เป็นเพราะฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ซึ่งโดยปกติมักจะเริ่มในช่วงต้นปีใหม่ตอนเดือนมกราคมกลับเริ่มมีการระบาดเร็วกว่าปีก่อนๆ คือตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ.2012 ก็เริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในหลายเมืองใหญ่แล้ว แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังชะล่าใจไม่ไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ออกมาสำหรับฤดูกาลใหม่ปี 2013 ที่มักเริ่มมีการเชิญชวนให้เริ่มฉีดกันในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไปก่อนที่จะเข้าฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่เริ่มมีการระบาดอย่างจริงจังจนกว่าจะหมดฤดูหนาวจริงๆ ในช่วงเดือนมีนาคม
 
ดังนั้นเมื่อเชื้อไวรัสมีปรากฏอยู่ในชุมชน ประกอบกับฤดูหนาวที่เหมาะแก่การระบาดของเชื้อ ร่วมกับการที่ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ จึงทำให้มีการระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นมากทุกเมือง จนบางแห่งต้องประกาศภาวะวิกฤติเพราะไม่สามารถรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้จะสามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีการระดมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีสำหรับฤดูกาลนี้ให้แก่ประชากรทั่วไป โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจถึงปัญหาและประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นี้ผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ว่าที่เมืองบอสตันและนิวยอร์กมีการตั้งซุ้มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนตามศูนย์สรรพสินค้าใหญ่หลายแห่งในขณะนี้
 
สำหรับประเทศไทยของเราซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างประเทศจนติดอันดับโลกของเมืองท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วโลกต่างก็โหวตให้ ก็มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H3N2/Victoria นี้มาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2012 แต่ยังไม่พบว่ามีการระบาดที่รุนแรงเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอเมริกา อาจเป็นเพราะอากาศในประเทศไทยร้อนกว่าและประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้อยู่บ้างแล้ว ทั้งจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน ทำให้ปัญหาไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยยังไม่รุนแรงนัก
 
อย่างไรก็ดี ที่เห็นอยู่ในขณะนี้ยังไม่น่าจะใช่คำตอบสุดท้าย เนื่องจากฤดูกาลการระบาดของประเทศไทยมักจะเป็นหนักในช่วงฤดูฝน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยต่อการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจเกิดการระบาดอย่างรุนแรงในไทยได้ โดยผู้เชี่ยวชาญมักจะกล่าวว่า เป็นการยากที่จะคาดว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไรและจะรุนแรงแค่ไหนในแต่ละฤดูกาล แม้แต่ปัญหาการระบาดที่เกิดขึ้นในอเมริกาอยู่ขณะนี้ก็ยังยากที่จะบอกได้ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ และจะจบการระบาดเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ คือเราสามารถช่วยลดปัญหาความรุนแรงของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยการดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค เช่น การใช้ผ้าปิดปากและจมูก การหมั่นล้างมือ การลาหยุดพักงานหรือโรงเรียนเพื่อไม่เป็นคนแพร่กระจายเชื้อให้แก่คนอื่น และอีกสิ่งสำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สมควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างยิ่ง โดยหลักสำคัญของการฉีดวัคซีนคือช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการฉีดวัคซีนก่อนที่จะมีการระบาด เนื่องจากร่างกายต้องการเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงพอที่จะป้องกันโรคได้
 
 
เรียบเรียงโดย นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
 
อ้างอิง: http://www.cdc.gov/flu
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs