bih.button.backtotop.text

หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจร้ายแรงกว่าที่คิด

หัวใจเต้นไม่เป็นส่ำ หวิว ๆ อยู่ในใจ หรือหัวใจเต้นระรัว” อาจไม่ใช่ผลพวงของความรักโรแมนติกเสมอไป แต่อาจหมายถึงอาการของโรคหัวใจอีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยก็เป็นได้
 

เรา กำลังกล่าวถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะมีอันตรายมากน้อยเพียงใด หรือจะรักษาได้อย่างไรนั้น นพ. เกรียงไกร จิรสิริโรจนากร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสไฟฟ้าในหัวใจ มีคำตอบ
 

หัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร

 

 
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึงการที่หัวใจเต้นไม่เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไป หรือช้าเกินไปก็ได้ “ตามปกติแล้วจังหวะการเต้นของหัวใจจะถูกกำหนดโดยสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งมาจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวา” นพ. เกรียงไกรอธิบาย “สัญญาณไฟฟ้านี้จะถูกส่งต่อไปยังห้องหัวใจที่เหลือและลงไปยังหัวใจห้องล่างเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย กลไกการเต้นของหัวใจนี้จะถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าในหัวใจซึ่งจะมีแบบแผน และมีความสม่ำเสมอตามแต่กิจกรรมของร่างกายที่มากน้อยต่างกันไป”
 

นพ. เกรียงไกรอธิบายต่อว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือผิดจังหวะเป็นผลจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจเปลี่ยนไป โดยอาจจะส่งสัญญาณเร็วเกินไป มากเกินไป หรือในบางกรณีเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ เป็นที่มาของจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร” 
 

ตามปกติ หัวใจของคนเราจะเต้นระหว่าง 50-100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก แต่หากมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะทำให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป หรือช้าเกินไปจากระดับปกติ หรือมีจังหวะหัวใจที่ขาดหายไป หรือแทรกมาก่อนจังหวะปกติ ทั้งหมดนี้ คือภาวะที่เรียกว่าภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ


ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดที่หัวใจห้องบนหรือห้องล่างก็ได้และหลายชนิดไม่มีนัยสำคัญหรือเป็นอันตราย สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภท เช่น หัวใจห้องล่างเต้นเร็วรัว (Ventricular Tachycardia) ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที หรือหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พบมากที่สุด และจำเป็นต้องได้รับการรักษา แม้ว่าโดยโรคเองอาจไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น“
 

สาเหตุ อาการ และการวินิจฉัย

 


โดยมากแล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา และมักจะค้นพบโดยบังเอิญด้วยการตรวจสุขภาพหรือเมื่อป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ ผู้ป่วยบางรายโชคดีที่มีอาการผิดปกติให้สงสัยและสังเกตได้ ขณะที่หลายรายไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลย “ในรายที่มีอาการ ผู้ป่วยอาจรู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก บางรายอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติไปเลยซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากมาพบแพทย์ไม่ทัน” นพ. เกรียงไกรกล่าว


การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าในหัวใจมีความผิดปกติ คำถามที่เกิดต่อมาก็คือว่า การที่กระแสไฟฟ้าในหัวใจมีความผิดปกตินั้น เกิดมาจากสาเหตุใด ซึ่ง นพ. เกรียงไกรอธิบายว่า “ความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากการกระตุ้นโดยปัจจัยภายนอกอย่างการดื่มกาแฟ ดื่มสุราหนัก ๆ การใช้ยาบางชนิด รวมทั้งความเครียดก็เป็นได้ ซึ่งหัวใจเต้นผิดปกติในกลุ่มนี้ไม่เป็นอันตราย ผู้ป่วยเพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ปัญหาก็หมดไปได้
 

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจ ได้แก่ ปัจจัยภายใน หรือโครงสร้างของหัวใจที่ผิดปกติของผู้ป่วยเองอาทิ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจที่เคยมีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาแล้ว เป็นต้น”
  

สำหรับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่นั้นโดยปกติแพทย์จะอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) แต่หัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และหายไป ทำให้ไม่สามารถตรวจพบได้


“กรณีที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะยังไม่ปักใจทันทีว่าผู้ป่วยไม่มีปัญหาอะไร แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือบางอย่างเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังการติด Holter Monitor ซึ่งจะช่วยบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดระยะเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง หรือการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (Cardiac Electrophysiology Study) โดยใช้สายสวนหัวใจสอดตามหลอดเลือดไปยังห้องหัวใจทั้งบนและล่าง ตัวบันทึกสัญญาณที่ส่วนปลายจะทำการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจ ทำให้แพทย์ทราบถึงตำแหน่งของความผิดปกติที่แน่นอน” นพ. เกรียงไกรอธิบาย
 

การรักษา

ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น นพ. เกรียงไกรกล่าวว่าแพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค เพราะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องให้การรักษา ส่วนชนิดที่จำเป็นต้องได้รับการรักษานั้น มีทางเลือกในการรักษาดังนี้  
  

  • การใช้ยา หัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดตอบสนองดีต่อการใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ แม้ไม่อาจช่วยให้หายขาด แต่ก็ลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้  
  •  การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป แพทย์อาจต้องใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกาย ลักษณะเป็นแผ่นแปะไว้บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย 
  •  การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (Ablation Therapy) วิธีนี้เป็นหัตถการที่ต่อเนื่องจากการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ เมื่อสอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติแล้ว แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็ก ๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ วิธีนี้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุทำให้โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดหายขาดได้ และต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสไฟฟ้าในหัวใจ (Electrophysiologist) เท่านั้น
  •  การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือเล็ก ๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณกระดูกไหปลาร้า และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ เครื่องจะทำการตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ สายนำไฟฟ้าจะเป็นตัวควบคุม และกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด
  •  การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter-Defibrillator) เป็นการฝังเครื่องมือคล้าย ๆ กับเครื่องกระตุ้นหัวใจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (Ventricular Fibrillation) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อหัวใจเต้นช้า เครื่องมือก็จะกระตุ้นหัวใจเช่นเดียวกับ Pacemaker แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็วขนาดที่อาจเป็นอันตราย เครื่องจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกให้หัวใจกลับมาเต้นปกติทันที
 
 
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจป้องกันไม่ได้เสมอไป แต่คุณสามารถลดโอกาสในการเกิดให้น้อยลงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อย่างกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด และการสูบบุหรี่ ประกอบกับการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและปรับการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพดีด้วยการเลือกรับประทานอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs